27/8/61

เส้นทางความเป็นไท(ย) ด้านน้ำมัน (ตอนจบ) : บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

หลังจากที่รัฐบาลได้จัดทำการจัดตั้ง “การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย” เพื่อดำเนินกิจการพลังงานปิโตรเลียม และเพื่อต่อรองกับบริษัทน้ำมันต่างชาติ

ต่อมาในปี 2522 ได้เกิดวิกฤติน้ำมันโลกครั้งที่ 2 ขึ้นอีกครั้ง จากการปฏิวัติการปกครองในประเทศอิหร่าน ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มโอเปค (OPEC)
.
ผลที่ตามมาทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวขึ้นสูงเป็นอย่างมาก โดยในปี 2522 เพียงปีเดียว ราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวจาก 15.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไปเป็น 28.9 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
.
ในช่วงเวลานั้น ปตท.ก็ได้ดำเนินการเจรจากับบริษัทน้ำมันต่างชาติ ตลอดจนการขอความร่วมมือในการจัดหาน้ำมันจากประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการขาดแคลนพลังงานขึ้นในประเทศ

นอกจากนั้น ในปี 2528 ปตท.ก็ได้ดำเนินการจัดตั้ง บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (ปตท.สผ.) เพื่อทำหน้าที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ทั้งในและนอกประเทศ เพื่อมิให้การใช้พลังงานของประเทศไทยต้องพึ่งพาบริษัทต่างชาติทั้งหมด
.
ในปี 2533 สงครามอ่าวเปอร์เซียในตะวันออกกลางได้ระเบิดขึ้น เมื่อประเทศอิรักที่นำโดย นายซัดดัม ฮุสเซน ได้ดำเนินการทางทหารเพื่อบุกยึดคูเวต และประกาศให้คูเวตเป็นจังหวัดหนึ่งของอิรัก ซึ่งได้สร้างความหวั่นวิตกแก่ประเทศต่างๆ เป็นอย่างมาก จึงทำให้เกิดการกักตุนสำรองน้ำมันไว้
.
ราคาน้ำมันจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 16.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในเดือนกรกฎาคม มาเป็น 24.3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในเดือนสิงหาคม แล้วเพิ่มเป็น 32.9 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
.
จากความผันผวนทางด้านราคาน้ำมันดิบ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์น้ำมัน หรือสงครามอ่าวเปอร์เซียนั้น ได้เป็นปัจจัยเร่งให้รัฐบาลเริ่มหันมาดำเนินนโยบายเสถียรภาพด้านพลังงานอย่างเร่งด่วน ประกอบกับในปี 2534 รัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนนโยบายด้านกิจการปิโตรเลียมใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ณ ขณะนั้น

โดยมีสาระสำคัญคือ ส่งเสริมการแข่งขันในกิจการน้ำมันโดยใช้ ปตท.ถ่วงดุลมิให้ผู้ค้าน้ำมันเอกชนรวมตัวกันกำหนดราคาได้
.
จากนโยบายนี้ ภาคเอกชนจึงสามารถเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมมากขึ้น จึงทำให้ ปตท.ในฐานะบริษัทน้ำมันแห่งชาติ มีความจำเป็นต้องปรับบทบาทและโครงสร้างของตนจากเดิม

ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 17กันยายน 2534 ให้ดำเนินการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและบทบาทของ ปตท.ให้เหมาะสมกับสถานการณ์กิจการปิโตรเลียมของไทย ที่เปลี่ยนแปลงไปในเชิงพาณิชย์มากขึ้น
.
ในปี 2540 เกิดต้มยำกุ้ง Crisis รัฐบาลจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาลต้องเร่งให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ขึ้น เพื่อจัดทำแผนแม่บทการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยต่อมารัฐบาลก็มีมติเห็นชอบให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจสาขาพลังงาน 3 สาขา ได้แก่ สาขาไฟฟ้า สาขาน้ำมัน และ สาขาก๊าซธรรมชาติ ให้ไปสู่โครงสร้างแข่งขันเสรีได้ในอนาคต
.
วันที่ 1 ตุลาคม 2544 จึงได้มีการแปลงสภาพการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท.ไปเป็นบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โดยยังคงสถานะรัฐวิสาหกิจไว้เช่นเดิม

และต่อมาในวันที่ 9 มกราคม 2545 รัฐบาลจึงได้ทำการจัดตั้ง “กระทรวงพลังงาน”โดยรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านพลังงาน ซึ่งกระจัดกระจายเข้าด้วยกันทั้งหมด เพื่อสร้างเอกภาพในการบริหารจัดการกิจการด้านพลังงานของประเทศต่อไป
.
จากกงล้อประวัติศาสตร์ทางพลังงานของประเทศไทยที่ผ่านมา ผมจะขอสรุปสั้นๆ ดังนี้ครับ
.
ประการแรก การจัดการน้ำมันของประเทศไทย มีแรงกดดันจากสภาพแวดล้อมของโลก และการเมืองระหว่างประเทศเป็นสำคัญ

แต่อย่างหนึ่งที่เราต้องยอมรับ คือ เราอยู่ในโลกที่การค้าเสรีเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก การจะให้ ปตท. มาควบคุมราคา หรือ อุดหนุนราคาเพื่อให้น้ำมันถูก เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในโลกปัจจุบัน
.
ประการที่สอง สังคมควรจะร่วมกันหาคำตอบว่า ตกลงแล้ว ปตท.ควรจะเป็นองค์กรที่สร้าง ‘ความมั่นคงทางพลังงาน’ หรือ ‘ควบคุมราคาพลังงาน’ มากกว่ากันแน่
.
.
จบแล้วครับ สำหรับประวัติศาสตร์ย่อทางพลังงานของประเทศไทย จริงๆ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจและรายละเอียดอยู่อีกมาก เช่น
- ปตท. ในปัจจุบันเป็นอย่างไร
- ทำไม ปตท. กำไรแสนล้าน
- จะเข้าทำงานที่ ปตท. ทำอย่างไร ฯลฯ

แหล่งที่มา : https://www.facebook.com/chakartnit/posts/10156075451616001

เส้นทางความเป็นไท(ย) ด้านน้ำมัน (3) : บริษัทน้ำมันแห่งชาติไทย (Thailand National Oil Company) เริ่มตั้งไข่

จากการที่ไทยเป็นผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 และต้องยกอำนาจการจัดการน้ำมันไปให้ Shell และ Esso แต่กระทรวงกลาโหมยังดึงดันจัดตั้ง “แผนกเชื้อเพลิง” ขึ้นมาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2492 เพื่อดำเนินการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงตามความต้องการของกองทัพและหน่วยราชการ
.
แน่นอนว่าเรื่องนี้ สร้างความไม่พอใจให้กับ Shell และ Esso อย่างมาก เพราะกลัวว่าแผนกเชื้อเพลิงจะขายน้ำมันให้แก่เอกชนและประชาชนทั่วไป อันเป็นการผิดสัญญาของรัฐบาลไทยและทำให้ Shell และ Esso ไม่ได้รับผลประโยชน์จากการขายน้ำมันเท่าที่ควร

ดังนั้น Shell และ Esso จึงขอให้รัฐบาลส่งรายชื่อ “ผู้ซื้อน้ำมัน” ให้ทราบด้วย
.
สามปีต่อมา รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สั่งให้กระทรวงการต่างประเทศ ไปพยายามเจรจากับประเทศต่างๆ ที่มีอิทธิพลกับ Shell และ Esso เพื่อขอยกเลิกสัญญาที่มีอยู่เดิม และขอให้มีการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเสรีในประเทศไทยได้ด้วย

พร้อมกันนั้น กระทรวงกลาโหมในขณะนั้น ซึ่งมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ได้จัดตั้ง "องค์การเชื้อเพลิง" ขึ้น เพื่อดำเนินการจัดซื้อน้ำมันด้วยการเปิดประมูลทั่วไป และให้บริษัทน้ำมันต่างชาติมีโอกาสเข้าประมูล ซึ่งต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็น “กรมการพลังงานทหาร” ทำหน้าที่ควบคุมดูแลองค์การเชื้อเพลิง และพัฒนาการปิโตรเลียมในเขตภาคเหนือของไทย
.
องค์การเชื้อเพลิงในขณะนั้น ยังไม่สามารถจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ประชาชนได้ เนื่องจากยังคงมีข้อผูกพันในสัญญาที่มีอยู่กับ Shell และ Esso
.
ในที่สุดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกากำลังต้องการใช้ประเทศไทยเป็นฐานทัพทหาร เพื่อหยุดการขยายตัวของระบอบคอมมิวนิสต์ในASEAN ก็ได้ตกลงแก้ไขสัญญาที่ห้ามรัฐบาลไทยจำหน่ายน้ำมัน และให้รัฐบาลไทยสามารถค้าน้ำมันให้แก่เอกชนและประชาชนได้อีกครั้งหนึ่ง
.
เมื่อไม่มีข้อผูกพันตามสัญญาแล้ว ในปี พ.ศ. 2503 องค์การเชื้อเพลิงก็ได้ยกฐานะเป็นนิติบุคคล เพื่อดำเนินธุรกิจน้ำมันในเชิงพาณิชย์ เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และมุ่งช่วยเหลือด้านการครองชีพของประชาชน

นอกจากนั้น รัฐบาลก็ได้เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่อง “เสถียรภาพทางพลังงาน” อย่างจริงจัง ด้วยการตราพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2509 ขึ้น โดยมีสาระสำคัญคือ ให้ผู้ผลิตและผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิง จะต้องสำรองทำการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเอาไว้ตามที่กฎหมายกำหนด
.
ต่อมา ในปี 2516 ได้เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งแรกขึ้น เนื่องจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือโอเปค (OPEC) ได้ประกาศงดและลดการส่งออกและการผลิตน้ำมัน เพื่อตอบโต้ต่อสหรัฐอเมริกา ต่อความช่วยเหลือทางทหารแก่อิสราเอล ในสงครามอ่าวครั้งที่ 1 ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก คือจาก 2.6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไปเป็นประมาณ 12 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
.
ในปี 2517 แม้ว่ากลุ่มประเทศโอเปคจะยกเลิกการงดการส่งออกน้ำมันแล้วก็ตาม แต่ก็ได้เข้าควบคุมปริมาณการผลิตและราคาน้ำมันดิบ เนื่องจากรู้แล้วว่า น้ำมันสามารถใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้กับสหรัฐอเมริกาได้

ราคาน้ำมันดิบจึงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากราคาประมาณ 12 ดอลลาร์ต่อบาเรล ในปี 2517 ขึ้นไปเป็น 15 ดอลลาร์ต่อบาเรล ในปี 2520 ก่อให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วยเช่นกัน
.
ในช่วงเวลานั้นรัฐบาลไทย มีเพียงองค์การเชื้อเพลิงที่มีหน้าที่จัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงเพียงองค์กรเดียว ซึ่งองค์การเชื้อเพลิงก็ไม่สามารถสร้างเครือข่ายกับผู้ค้าน้ำมันภายนอกประเทศได้เพราะขาดอำนาจต่อรองกับบริษัทต่างชาติ

ดังนั้น รัฐบาลจึงมีแนวคิดที่จะจัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติ (National Oil Company หรือ NOC) ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์น้ำมัน รวมทั้งใช้เป็นอำนาจต่อรองกับบริษัทน้ำมันต่างชาติอีกด้วย
.
นอกจากนั้น แนวคิดเรื่องการจัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาตินี้ ก็สอดคล้องกับสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะนั้นพอดี โดยประเทศต่างๆ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ก็ได้มีการจัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นตอนนี้เช่นกัน
.
ในปี พ.ศ. 2521 รัฐบาลไทยจึงได้จัดทำการจัดตั้ง

“การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย” หรือ ปตท.ขึ้น

มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการพลังงานปิโตรเลียม ในลักษณะการพึ่งพาตนเอง และเพื่อเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) ของประเทศไทยในการต่อรองกับบริษัทน้ำมันต่างชาติ
.
.
ปตท. จะมีอำนาจในการต่อรอง และถ่วงดุลกับบริษัทน้ำมันต่างชาติ ตามความตั้งใจของรัฐบาลได้หรือไม่ ผมจะมาพูดถึงในตอนหน้า

รอติดตามนะครับ

แหล่งที่มา : https://www.facebook.com/chakartnit/posts/10156062227106001

16/8/61

อึ้ง! ยอดใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 6 เดือนแรก พุ่งขึ้นทุกประเภท

รายงานข่าวจากกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศครึ่งแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย. 2561) มีปริมาณทั้งสิ้น 28,347 ล้านลิตร เฉลี่ยวันละ 156.6 ล้านลิตร หรือ 985,005 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.8 ล้านลิตรต่อวัน หรือ 3.84% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภททั้งเบนซิน น้ำมันอากาศยาน ดีเซล ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) สะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจที่มีการเติบโตต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคการส่งออก การบริการและการท่องเที่ยว



โดยกลุ่มเบนซินมีปริมาณการใช้หรือการจำหน่ายอยู่ที่ 5,619.8 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.37% แยกเป็นแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 1,849.07 ล้านลิตร ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.52% แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 2,313.76 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 9.66% E20 อยู่ที่ 1,019.42 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 10.49% E85 อยู่ที่ 206.2 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 10.61% ทั้งนี้ การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 ยังคงลดลงต่อเนื่อง ขณะที่แก๊สโซฮอล์ 95 กลับเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐส่งเสริมให้ผู้ค้าใช้กลไกส่วนต่างราคาแก๊สโซฮอล์ 91 ถูกกว่าแก๊สโซฮอล์ 95 เพียงลิตรละ 27 สตางค์ เพื่อปูทางการยกเลิกจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 ในอนาคต

สำหรับการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วอยู่ที่ 12,094.87 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.03% น้ำมันอากาศยานอยู่ที่ 3,608.25 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 7.52% ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) อยู่ที่ 3,213.98 ล้านกิโลกรัม (ก.ก.) เพิ่มขึ้น 6.70% ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) อยู่ที่ 1,140.677 ล้านก.ก. เพิ่มขึ้น 9.33% ส่วนการนำเข้าน้ำมันดิบรวม 6 เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 27,455 ล้านลิตร มูลค่าการนำเข้ารวม 389,074 ล้านบาท โดยปริมาณเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.5% มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 28.4%

5/8/61

เส้นทางความเป็นไท(ย) ด้านน้ำมัน (2) : ยุคไทยขอขายน้ำมันเอง มีหรือต่างชาติจะยอม

ในปี พ.ศ. 2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้น รัฐบาลคณะราษฎรเข้าบริหารประเทศ และเห็นว่า น้ำมันเป็นยุทธปัจจัยที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะด้านการทหาร



ดังนั้น รัฐบาลคณะราษฎร จึงให้มีการจัดตั้ง ‘แผนกเชื้อเพลิง’ อยู่สังกัดทหารบก ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2476 เป็นต้นไป โดยมีภารกิจในการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ทางราชการทหาร

นอกจากนั้น ยังให้หน่วยราชการอื่นๆ ซื้อน้ำมันจากแผนกเชื้อเพลิงนี้ด้วย จึงทำให้ราคาน้ำมันในท้องตลาดลดลงอย่างมาก
.
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2480 รัฐบาลก็ได้ยกฐานะแผนกเชื้อเพลิงให้เป็น ‘กรมเชื้อเพลิง’ สังกัดกระทรวงกลาโหม รวมทั้งได้เปิดจำหน่ายน้ำมันให้แก่ประชาชนโดยทั่วไปอีกด้วย โดยมีนายวนิช ปานะนนท์ ผู้ก่อการคณะราษฎรสายพลเรือน เป็นเจ้ากรมคนแรก
.
สถานการณ์การเมืองโลกในขณะนั้น เริ่มมีเค้าของสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้รัฐบาลต้องการดำเนินนโยบายให้น้ำมันเชื้อเพลิงมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

ประกอบกับนายวนิช ปานะนนท์ เจ้ากรมเชื้อเพลิง ก็มีความสนิทสนมกับทางประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกำลังดำเนินนโยบายปลดแอกประเทศเอเชียจากพวกชาติตะวันตก
.
ประเทศไทยจึงตราพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิงปี 2481 ขึ้นมาใช้ โดยมีสาระสำคัญ คือ

1) ผู้ขายน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องมีน้ำมันสำรองไว้จำนวนครึ่งหนึ่ง ของน้ำมันที่ขายในหนึ่งปี และ

2) ให้รัฐบาลเป็นผู้กำหนดราคาขายน้ำมัน
.
เมื่อรัฐบาลออกกฎหมายดังกล่าว Shell กับ Esso ไม่พอใจรัฐบาลไทยเป็นอย่างมาก พอดีกับที่สงครามโลกครั้งที่สองได้เริ่มต้นขึ้นพอดี (เยอรมันบุกโปแลนด์) Shell และ Esso จึงตัดสินใจเลิกกิจการในประเทศไทย

ช่วงเวลานี้ กรมเชื้อเพลิงจึงกลายเป็นผู้จัดหาและจำหน่ายนำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียวไปโดยปริยาย
.
หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน ประเทศไทยในฐานะฝ่ายแพ้สงคราม จึงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวคือ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ทหารของสหประชาชาติได้เดินทางเข้ามายังประเทศไทยในฐานะของผู้ชนะสงคราม



หากแต่สหประชาชาติไม่ได้มาเพียงลำพัง แต่มีผู้ร่วมเดินทางกลับเข้ามาด้วย ได้แก่ Shell และ Esso
.
Shell และ Esso ได้เข้าพบกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้น เพื่อเจรจาเรื่องการเปิดการค้าน้ำมันเสรีในประเทศไทย และขอให้รัฐบาลยกเลิกพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2481 โดยอ้างว่าไม่เป็นการค้าเสรี
.
จากแรงกดดันดังกล่าว ในที่สุดรัฐบาลไทยก็ต้องยกเลิกพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2481 ซึ่งเป็นคุณกับประเทศไทย

เท่านั้นไม่พอ Shell และ Esso ก็ยังขอให้รัฐบาลไทยรับรองอีกว่า รัฐบาลไทยจะไม่เข้าหุ้นส่วนในการค้าน้ำมันกับบริษัทต่างประเทศ และรัฐบาลไทยจะเปิดให้บริษัทต่างประเทศมีสิทธิในการเสนอขายน้ำมันแก่รัฐบาลด้วย

มากไปกว่านั้นรัฐบาลจะต้องยุบเลิกกรมเชื้อเพลิงแล้วขายทรัพย์สินตลอดจนร้านค้าน้ำมันทั้งหมด พร้อมให้เช่าที่ดินแบบต่ออายุได้แบบมีกำหนด 30 ปี ให้กับ Shell และ Esso เท่านั้น
.
.
ผลของการยกเลิกกฎหมายและการรับรองของรัฐบาลไทยดังกล่าว จึงถือว่าเป็นการยุติการประกอบกิจการน้ำมันของรัฐบาลไทยอย่างสมบูรณ์ และต้องสูญเสียอำนาจในการบริหารจัดการน้ำมันไปให้ Shell และ Esso อย่างสิ้นเชิงเหมือนในอดีต
.
จากความคับแค้นใจในเรื่องนี้ ประเทศไทยจึงเริ่มคิดว่า จะต้องมีบริษัทน้ำมันแห่งชาติของตัวเอง แบบที่ชาติตะวันตกมี Shell และ Esso บ้าง เราจะได้ไม่ต้องไปพึ่งพาเรื่องน้ำมันกับต่างชาติตลอดไป

ใครจะมาเป็นพระเอกขี่ม้าขาว รอติดตามตอนต่อไปนะครับ

#ประวัติเรื่องน้ำมันในไทย #บริษัทน้ำมันแห่งชาติ
ที่มา : https://www.facebook.com/chakartnit/posts/10156058086331001

2/8/61

เส้นทางความเป็นไท(ย) ด้านน้ำมัน (1) : ยุคเริ่มต้นน้ำมันไทย ต่างชาติผูกขาด

เมื่อวันก่อน ผมเห็นภาพหนึ่งที่มีการแชร์ต่อกันทาง Facebook รณรงค์ให้หยุดเติมน้ำมัน ปตท. 1 อาทิตย์ แล้วหันไปเติมน้ำมันของบริษัทน้ำมันต่างชาติแทน


.
อันที่จริงการจะเติมน้ำมัน แบรนด์ต่างชาติก็ไม่ได้ผิดอะไรนะครับ แต่เหตุผลในการเลือกแบรนด์ต่างชาติหรือไทย ควรจะเป็นเรื่องของการแข่งขันด้านคุณภาพมากกว่า
.
หลายคนคงเคยได้ยินมาว่าครั้งหนึ่งไทยเคยเสียสิทธิทางการศาลให้กับต่างชาติ พูดง่ายๆ คือ คนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ไม่ต้องขึ้นศาลไทย ซึ่งเราก็ต่อสู้จนได้สิทธิทางการศาลกลับคืนมาเมื่อ 80 ปีก่อนนี่เอง
.
แต่สิ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้ ก็คือ ครั้งหนึ่งประเทศไทยก็เคยเสียสิทธิทางน้ำมันให้ต่างชาติเช่นเดียวกัน หรือพูดอีกทางก็คือ เราพึ่งตัวเองด้านน้ำมันไม่ได้ จะต้องพึ่งบริษัทน้ำมันต่างชาติเท่านั้น ถ้าเขาไม่ขายให้เรา ประเทศไทยก็หยุดชะงัก
.
สิ่งเหล่านี้คลี่คลายลงไป เมื่อเรามีบริษัทน้ำมันแห่งชาติของตัวเอง ซึ่งก็คือ ปตท. ในปัจจุบัน ประเทศไทยจึงสามารถพึ่งพาตัวเองทางน้ำมันและพลังงานได้อย่างสมบูรณ์
.
เรื่องความเป็นไทด้านพลังงานของประเทศไทยนั้น ผมเคยเขียนลงหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อหลายปีมาแล้ว แต่จากสถานการณ์ ณ ขณะนี้ คิดว่าน่าจะนำมาปัดฝุ่นอีกครั้งหนึ่ง

ถ้าเพื่อนๆ เห็นว่าเรื่องนี้มีประโยชน์ แชร์ไปได้เลยนะครับ
.
.
ในปี พ.ศ. 2435 ประเทศไทยเริ่มนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเข้ามาใช้เป็นครั้งแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันก๊าด ที่นิยมนำมาใช้ประโยชน์การให้แสงสว่างในเวลากลางคืน
.
การนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปที่ว่านี้ เป็นการนำเข้าผ่านบริษัทน้ำมันต่างชาติ สัญชาติอังกฤษ ได้แก่ Shell

และอีก 2 ปี ต่อมา ก็มีบริษัทน้ำมันต่างชาติเข้ามาดำเนินงานในไทยอีกบริษัทหนึ่ง ได้แก่ บริษัทสแตนดาร์ดแวคคัมออยล์แห่งสหรัฐอเมริกา หรือ Esso ในปัจจุบัน

บริษัทน้ำมันต่างชาติทั้งสองนี้ มีข้อตกลงเรื่องส่วนแบ่งการตลาดในประเทศไทย คือ Shell ได้ส่วนแบ่งการตลาด 80% และ Esso ได้ 20%
.
เหตุที่ Esso ยอมเสียเปรียบ Shell ในประเทศไทย ก็เนื่องจากในประเทศจีนและญี่ปุ่นนั้น Esso ได้ส่วนแบ่งการตลาด 80% และ Shell ได้ 20%
.
ที่สำคัญกว่านั้น Shell และ Esso ในไทยได้จับมือกัน เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันเอาไว้ มีผลให้ผู้ค้าน้ำมันรายย่อยทั้งไทยและจีนที่มีอยู่ในขณะนั้น ไม่สามารถแข่งขันด้วยได้ และต้องล้มเลิกกิจการไปในที่สุด

ดังนั้น ราคาน้ำมันในประเทศไทยจึงมีราคาแพงเมื่อเทียบกับตลาดโลก ณ ขณะนั้น

เพียงแต่ตอนนั้นยังไม่มี Internet กับ Facebook คนไทยจึงประท้วง Shell กับ Esso ไม่ได้



เมื่อต้องเผชิญกับการจับมือกันของ Shell และ ESSO เพื่อผูกขาดตลาดน้ำมัน ประเทศไทยจะหาทางออกเรื่องนี้อย่างไร มาดูกันในตอนต่อไปนะครับ

#ประวัติเรื่องน้ำมันในไทย #บริษัทน้ำมันแห่งชาติ

ขอบคุณแหล่งที่มา : เส้นทางความเป็นไท(ย) ด้านน้ำมัน (1)
FB : Pum Chakartnit https://www.facebook.com/chakartnit/posts/10156055647486001