จากการที่ไทยเป็นผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 และต้องยกอำนาจการจัดการน้ำมันไปให้ Shell และ Esso แต่กระทรวงกลาโหมยังดึงดันจัดตั้ง “แผนกเชื้อเพลิง” ขึ้นมาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2492 เพื่อดำเนินการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงตามความต้องการของกองทัพและหน่วยราชการ
.
แน่นอนว่าเรื่องนี้ สร้างความไม่พอใจให้กับ Shell และ Esso อย่างมาก เพราะกลัวว่าแผนกเชื้อเพลิงจะขายน้ำมันให้แก่เอกชนและประชาชนทั่วไป อันเป็นการผิดสัญญาของรัฐบาลไทยและทำให้ Shell และ Esso ไม่ได้รับผลประโยชน์จากการขายน้ำมันเท่าที่ควร
ดังนั้น Shell และ Esso จึงขอให้รัฐบาลส่งรายชื่อ “ผู้ซื้อน้ำมัน” ให้ทราบด้วย
.
สามปีต่อมา รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สั่งให้กระทรวงการต่างประเทศ ไปพยายามเจรจากับประเทศต่างๆ ที่มีอิทธิพลกับ Shell และ Esso เพื่อขอยกเลิกสัญญาที่มีอยู่เดิม และขอให้มีการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเสรีในประเทศไทยได้ด้วย
พร้อมกันนั้น กระทรวงกลาโหมในขณะนั้น ซึ่งมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ได้จัดตั้ง "องค์การเชื้อเพลิง" ขึ้น เพื่อดำเนินการจัดซื้อน้ำมันด้วยการเปิดประมูลทั่วไป และให้บริษัทน้ำมันต่างชาติมีโอกาสเข้าประมูล ซึ่งต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็น “กรมการพลังงานทหาร” ทำหน้าที่ควบคุมดูแลองค์การเชื้อเพลิง และพัฒนาการปิโตรเลียมในเขตภาคเหนือของไทย
.
องค์การเชื้อเพลิงในขณะนั้น ยังไม่สามารถจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ประชาชนได้ เนื่องจากยังคงมีข้อผูกพันในสัญญาที่มีอยู่กับ Shell และ Esso
.
ในที่สุดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกากำลังต้องการใช้ประเทศไทยเป็นฐานทัพทหาร เพื่อหยุดการขยายตัวของระบอบคอมมิวนิสต์ในASEAN ก็ได้ตกลงแก้ไขสัญญาที่ห้ามรัฐบาลไทยจำหน่ายน้ำมัน และให้รัฐบาลไทยสามารถค้าน้ำมันให้แก่เอกชนและประชาชนได้อีกครั้งหนึ่ง
.
เมื่อไม่มีข้อผูกพันตามสัญญาแล้ว ในปี พ.ศ. 2503 องค์การเชื้อเพลิงก็ได้ยกฐานะเป็นนิติบุคคล เพื่อดำเนินธุรกิจน้ำมันในเชิงพาณิชย์ เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และมุ่งช่วยเหลือด้านการครองชีพของประชาชน
นอกจากนั้น รัฐบาลก็ได้เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่อง “เสถียรภาพทางพลังงาน” อย่างจริงจัง ด้วยการตราพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2509 ขึ้น โดยมีสาระสำคัญคือ ให้ผู้ผลิตและผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิง จะต้องสำรองทำการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเอาไว้ตามที่กฎหมายกำหนด
.
ต่อมา ในปี 2516 ได้เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งแรกขึ้น เนื่องจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือโอเปค (OPEC) ได้ประกาศงดและลดการส่งออกและการผลิตน้ำมัน เพื่อตอบโต้ต่อสหรัฐอเมริกา ต่อความช่วยเหลือทางทหารแก่อิสราเอล ในสงครามอ่าวครั้งที่ 1 ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก คือจาก 2.6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไปเป็นประมาณ 12 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
.
ในปี 2517 แม้ว่ากลุ่มประเทศโอเปคจะยกเลิกการงดการส่งออกน้ำมันแล้วก็ตาม แต่ก็ได้เข้าควบคุมปริมาณการผลิตและราคาน้ำมันดิบ เนื่องจากรู้แล้วว่า น้ำมันสามารถใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้กับสหรัฐอเมริกาได้
ราคาน้ำมันดิบจึงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากราคาประมาณ 12 ดอลลาร์ต่อบาเรล ในปี 2517 ขึ้นไปเป็น 15 ดอลลาร์ต่อบาเรล ในปี 2520 ก่อให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วยเช่นกัน
.
ในช่วงเวลานั้นรัฐบาลไทย มีเพียงองค์การเชื้อเพลิงที่มีหน้าที่จัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงเพียงองค์กรเดียว ซึ่งองค์การเชื้อเพลิงก็ไม่สามารถสร้างเครือข่ายกับผู้ค้าน้ำมันภายนอกประเทศได้เพราะขาดอำนาจต่อรองกับบริษัทต่างชาติ
ดังนั้น รัฐบาลจึงมีแนวคิดที่จะจัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติ (National Oil Company หรือ NOC) ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์น้ำมัน รวมทั้งใช้เป็นอำนาจต่อรองกับบริษัทน้ำมันต่างชาติอีกด้วย
.
นอกจากนั้น แนวคิดเรื่องการจัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาตินี้ ก็สอดคล้องกับสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะนั้นพอดี โดยประเทศต่างๆ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ก็ได้มีการจัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นตอนนี้เช่นกัน
.
ในปี พ.ศ. 2521 รัฐบาลไทยจึงได้จัดทำการจัดตั้ง
“การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย” หรือ ปตท.ขึ้น
มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการพลังงานปิโตรเลียม ในลักษณะการพึ่งพาตนเอง และเพื่อเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) ของประเทศไทยในการต่อรองกับบริษัทน้ำมันต่างชาติ
.
.
ปตท. จะมีอำนาจในการต่อรอง และถ่วงดุลกับบริษัทน้ำมันต่างชาติ ตามความตั้งใจของรัฐบาลได้หรือไม่ ผมจะมาพูดถึงในตอนหน้า
รอติดตามนะครับ
แหล่งที่มา : https://www.facebook.com/chakartnit/posts/10156062227106001
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น