ในปี พ.ศ. 2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้น รัฐบาลคณะราษฎรเข้าบริหารประเทศ และเห็นว่า น้ำมันเป็นยุทธปัจจัยที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะด้านการทหาร
ดังนั้น รัฐบาลคณะราษฎร จึงให้มีการจัดตั้ง ‘แผนกเชื้อเพลิง’ อยู่สังกัดทหารบก ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2476 เป็นต้นไป โดยมีภารกิจในการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ทางราชการทหาร
นอกจากนั้น ยังให้หน่วยราชการอื่นๆ ซื้อน้ำมันจากแผนกเชื้อเพลิงนี้ด้วย จึงทำให้ราคาน้ำมันในท้องตลาดลดลงอย่างมาก
.
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2480 รัฐบาลก็ได้ยกฐานะแผนกเชื้อเพลิงให้เป็น ‘กรมเชื้อเพลิง’ สังกัดกระทรวงกลาโหม รวมทั้งได้เปิดจำหน่ายน้ำมันให้แก่ประชาชนโดยทั่วไปอีกด้วย โดยมีนายวนิช ปานะนนท์ ผู้ก่อการคณะราษฎรสายพลเรือน เป็นเจ้ากรมคนแรก
.
สถานการณ์การเมืองโลกในขณะนั้น เริ่มมีเค้าของสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้รัฐบาลต้องการดำเนินนโยบายให้น้ำมันเชื้อเพลิงมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
ประกอบกับนายวนิช ปานะนนท์ เจ้ากรมเชื้อเพลิง ก็มีความสนิทสนมกับทางประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกำลังดำเนินนโยบายปลดแอกประเทศเอเชียจากพวกชาติตะวันตก
.
ประเทศไทยจึงตราพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิงปี 2481 ขึ้นมาใช้ โดยมีสาระสำคัญ คือ
1) ผู้ขายน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องมีน้ำมันสำรองไว้จำนวนครึ่งหนึ่ง ของน้ำมันที่ขายในหนึ่งปี และ
2) ให้รัฐบาลเป็นผู้กำหนดราคาขายน้ำมัน
.
เมื่อรัฐบาลออกกฎหมายดังกล่าว Shell กับ Esso ไม่พอใจรัฐบาลไทยเป็นอย่างมาก พอดีกับที่สงครามโลกครั้งที่สองได้เริ่มต้นขึ้นพอดี (เยอรมันบุกโปแลนด์) Shell และ Esso จึงตัดสินใจเลิกกิจการในประเทศไทย
ช่วงเวลานี้ กรมเชื้อเพลิงจึงกลายเป็นผู้จัดหาและจำหน่ายนำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียวไปโดยปริยาย
.
หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน ประเทศไทยในฐานะฝ่ายแพ้สงคราม จึงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวคือ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ทหารของสหประชาชาติได้เดินทางเข้ามายังประเทศไทยในฐานะของผู้ชนะสงคราม
หากแต่สหประชาชาติไม่ได้มาเพียงลำพัง แต่มีผู้ร่วมเดินทางกลับเข้ามาด้วย ได้แก่ Shell และ Esso
.
Shell และ Esso ได้เข้าพบกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้น เพื่อเจรจาเรื่องการเปิดการค้าน้ำมันเสรีในประเทศไทย และขอให้รัฐบาลยกเลิกพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2481 โดยอ้างว่าไม่เป็นการค้าเสรี
.
จากแรงกดดันดังกล่าว ในที่สุดรัฐบาลไทยก็ต้องยกเลิกพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2481 ซึ่งเป็นคุณกับประเทศไทย
เท่านั้นไม่พอ Shell และ Esso ก็ยังขอให้รัฐบาลไทยรับรองอีกว่า รัฐบาลไทยจะไม่เข้าหุ้นส่วนในการค้าน้ำมันกับบริษัทต่างประเทศ และรัฐบาลไทยจะเปิดให้บริษัทต่างประเทศมีสิทธิในการเสนอขายน้ำมันแก่รัฐบาลด้วย
มากไปกว่านั้นรัฐบาลจะต้องยุบเลิกกรมเชื้อเพลิงแล้วขายทรัพย์สินตลอดจนร้านค้าน้ำมันทั้งหมด พร้อมให้เช่าที่ดินแบบต่ออายุได้แบบมีกำหนด 30 ปี ให้กับ Shell และ Esso เท่านั้น
.
.
ผลของการยกเลิกกฎหมายและการรับรองของรัฐบาลไทยดังกล่าว จึงถือว่าเป็นการยุติการประกอบกิจการน้ำมันของรัฐบาลไทยอย่างสมบูรณ์ และต้องสูญเสียอำนาจในการบริหารจัดการน้ำมันไปให้ Shell และ Esso อย่างสิ้นเชิงเหมือนในอดีต
.
จากความคับแค้นใจในเรื่องนี้ ประเทศไทยจึงเริ่มคิดว่า จะต้องมีบริษัทน้ำมันแห่งชาติของตัวเอง แบบที่ชาติตะวันตกมี Shell และ Esso บ้าง เราจะได้ไม่ต้องไปพึ่งพาเรื่องน้ำมันกับต่างชาติตลอดไป
ใครจะมาเป็นพระเอกขี่ม้าขาว รอติดตามตอนต่อไปนะครับ
#ประวัติเรื่องน้ำมันในไทย #บริษัทน้ำมันแห่งชาติ
ที่มา : https://www.facebook.com/chakartnit/posts/10156058086331001
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น