30/5/60

ราคาน้ำมันในไทย ลดช้ากว่าต่างประเทศ จริงหรือ?

ราคาพลังงาน หลายคนอาจสงสัยว่าเวลาที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง ทำไมราคาขายปลีกหน้าปั๊มของไทยกลับไม่ลดตาม อีกทั้งราคายังลงน้อยกว่าขึ้น แถมเวลาขึ้นยังขึ้นแรงกว่าลงอีกด้วย




ราคาน้ำมันไทย ลดช้ากว่าต่างประเทศจริงหรือ?




แม้ว่าราคาขายปลีกน้ำมันไม่ได้ปรับขึ้นลงทันทีตามตลาดโลก แต่ก็จะสอดคล้องกันเพียงแต่มีช่วงเวลาที่เหลื่อมกันเท่านั้นเอง ตลาดน้ำมันสำเร็จรูปมีหลายแห่ง สำหรับประเทศไทยใช้ราคาตลาดในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ เป็นราคากลางในการเปรียบเทียบราคาการซื้อขาย ดังนั้นการใช้ราคาน้ำมันดิบ เช่น น้ำมันดิบดูไบ น้ำมันดิบแบรนท์ เพียงอย่างเดียวมาเปรียบเทียบจึงไม่ถูกต้อง เพราะไม่ใช่ราคาอ้างอิงของราคาน้ำมันสำเร็จรูปของภูมิภาคเอเชียและก็ไม่ใช่ราคาขายปลีกหน้าปั๊มด้วย อีกทั้งราคาขายปลีกก็ประกอบด้วย โครงสร้างราคาที่รวมถึงราคาเนื้อน้ำมัน ณ โรงกลั่น ภาษี และ กองทุนฯ ต่างๆ รวมทั้งค่าการตลาดด้วย


 
สูตรราคาขายของไทยจึงอ้างอิงราคาสำเร็จรูปที่ตลาดกลางในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ บวกกับภาษีและกองทุนฯ การขึ้นหรือลงของราคาบางครั้งไม่สามารถลงได้ทันทีหากเป็นการปรับราคาเล็กๆ น้อยๆ การปรับราคาส่วนใหญ่จะปรับในช่วง 30-60 สตางค์ ในส่วนของค่าการตลาด ซึ่งหมายถึงผลตอบแทนที่ได้จากการขายน้ำมันที่ยังไม่หักค่าดำเนินการ เช่น ค่าก่อสร้างปั๊ม ค่าขนส่งเพื่อกระจายน้ำมัน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าจ้างเด็กปั๊มและอื่นๆ




ปัจจุบันค่าการตลาดที่เหมาะสมจะอยู่ที่ประมาณ 1.6-1.8 บาทต่อลิตร หากค่าการตลาดสูงหรือต่ำกว่านี้ก็มีการปรับราคาขายปลีก ราคาขายปลีกน้ำมันของไทยที่เหมือนจะสูงนี้หากเปรียบเทียบราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วโลกแล้ว จะเห็นว่าราคาของไทยยังต่ำกว่าอีกหลายๆ ประเทศ 



เช่นเดียวกับราคาก๊าซ LPG ราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนของไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 หากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ราคาต่ำเป็นอันดับ 2 รองจากมาเลเซียที่มีการอุดหนุนราคาจากภาครัฐ


ส่วนราคาขายปลีกก๊าซ LPG รถยนต์ของไทยก็เช่นเดียวกันหากเทียบกับประเทศอื่นแล้วราคาอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ามาก


** ราคาพลังงานของไทยจึงไม่ลดช้ากว่าใคร และคนไทยก็ไม่ได้ใช้น้ำมันและก๊าซที่แพงกว่าประเทศอื่นอย่างแน่นอน

ขอบคุณคลิปและแหล่งที่มาจาก : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน และ  infographicmove.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น