1/6/60

เปิดทุกคำพิพากษา! ปตท. ส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติครบหรือไม่?

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา กลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย หรือ คปพ. ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3/2560 ประกาศจะดำเนินการอยู่ 3 เรื่อง โดยหนึ่งในนั้น คือ ดำเนินการเรื่องการส่งมอบท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ที่ คปพ. เห็นว่ายังส่งมอบไม่เสร็จสิ้น

เรื่องท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท. นับได้ว่าเป็นประเด็นร้อนแรงเรื่องหนึ่งของแวดวงพลังงานไทย เพราะถึงแม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาปิดฉากไปตั้งแต่ปี 2550 แต่ก็ยังมีการเคลื่อนไหวโดยบุคคลบางกลุ่มมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สังคมเกิดความสงสัยว่าศาลตัดสินไม่ชัดเจนหรืออย่างไร ถึงทำให้ประเด็นนี้ดำเนินมาได้ถึง 10 ปี



ดังนั้น เพื่อไม่ให้คำพิพากษาของศาลทำให้เกิดความเคลือบแคลงในสังคม ผู้เขียนจะขอเปิดสาระสำคัญของทุกคำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท. ทั้งหมด เพื่อให้ท่านผู้อ่านพิจารณาว่า คำพิพากษาของศาลในเรื่องนี้ ยุติหรือไม่ เพียงใด (อ่านข้อมูลพื้นฐานเรื่องการส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท.ได้ที่นี่)

1. ครั้งที่หนึ่ง: คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 (คดีแปรรูป ปตท.)

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2549 ได้มีผู้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการแปรรูป บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และให้กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยแบบเดิม ต่อมา ในวันที่ 14 ธันวาคม 2550 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา สรุปได้ดังนี้

ให้ยกคำฟ้องที่ขอให้เพิกถอนการแปรรูป บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ (คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ปตท.) ร่วมกันแบ่งแยกทรัพย์สินส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและสิทธิการใช้ที่ดินที่ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อกลับมาเป็นของรัฐ
2. ครั้งที่สอง: คำสั่งศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551

ภายหลังที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว หน่วยงานต่างๆ ก็ได้ดำเนินการแบ่งทรัพย์สินให้กับรัฐตามคำสั่งศาลเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี จนกระทั่งเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ศาลปกครองสูงสุดก็มีคำสั่งว่า “ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”

3. ครั้งที่สาม: คำสั่งศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552

ภายหลังที่ศาลมีคำสั่งครั้งที่สองแล้ว เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 ผู้ฟ้องคดีในคดีแปรรูป ปตท. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง ขอให้ศาลทำการไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินของ ปตท. ที่จะต้องแบ่งแยกคืนให้กระทรวงการคลัง โดยคำร้องได้อ้างรายงานของ สตง. ซึ่งมีความเห็นว่ามูลค่าทรัพย์สินของ ปตท. ยังส่งมอบไม่ครบตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

ปรากฏว่าในวันเดียวกันนั้นเอง ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยกคำร้องของผู้ฟ้องคดี โดยให้เหตุผลว่าผู้ฟ้องคดีมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ไม่มีสิทธิบังคับคดีอีกทั้ง ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

4. ครั้งที่สี่: หนังสือของสำนักงานศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 


หลังจากที่ศาลได้มีคำสั่งครั้งที่สามไม่นาน ต่อมา วันที่ 10 มีนาคม 2552 สำนักงานศาลปกครองก็ได้มีหนังสือไปถึง สตง. เพื่อตอบกลับความเห็นของ สตง. ว่า “…ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๔ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”

5. ครั้งที่ห้า: คำสั่งของศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2555

ภายหลังที่ศาลมีคำสั่งแล้วถึงสี่ครั้ง สามปีถัดมา คือ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2555 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กับพวกรวม 1,455 คน ได้ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปตท. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อศาลปกครองกลางอีกครั้ง โดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าร่วมกันดำเนินการแบ่งแยกระบบท่อก๊าซธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเลให้กลับมาเป็นของรัฐ และในคำฟ้องครั้งนี้ ผู้ฟ้องคดียังได้แนบหนังสือความเห็นของ สตง. ฉบับเดิมที่ศาลเคยตอบไว้แล้วในครั้งที่สี่ด้วย ศาลได้ใช้เวลาพิจารณาเรื่องนี้ประมาณ 17 วัน ต่อมา เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2555 ศาลปกครองกลาง จึงมีคำสั่งที่ไม่รับคำฟ้องเรื่องนี้ โดยให้เหตุผลว่า คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาแล้ว

6. ครั้งที่หก: คำสั่งของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2557

แม้ว่าศาลปกครองกลางจะไม่รับคำฟ้องเป็นครั้งที่ห้า แต่ผู้ฟ้องคดีก็ได้ทำการอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งต่อมา เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2557 ศาลปกครองสูงสุดก็มีคำสั่งยืนยันไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีตามศาลปกครองกลาง โดยให้เหตุผลว่า ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยเรื่องนี้ไปแล้ว

นอกจากนี้ ศาลปกครองสูงสุดยังวินิจฉัยด้วยว่า การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ปตท. รายงานต่อศาลปกครองสูงสุด โดยไม่มีการตรวจสอบและรับรองจาก สตง. นั้น เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันภายในหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของคณะรัฐมนตรี มิใช่เป็นเหตุที่กล่าวอ้างว่าเป็นการดำเนินการที่ยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมาย (การส่งมอบทรัพย์สิน ปตท. ให้กับรัฐ) ซึ่งเรื่องนี้ผมได้เคยเขียนไว้แล้ว (อ่านที่นี่)

7. ครั้งที่เจ็ด: คำสั่งศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559

ภายหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งครั้งที่หก ต่อมา เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ได้มีผู้ร้องไปยังศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งครั้งที่สอง (26 ธันวาคม 2551) ของตนเอง และขอให้ศาลพิจารณาความเห็นของ สตง. อีกครั้ง

ดังนั้น เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 ศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องฉบับนี้ เนื่องจากเป็นการขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือประเด็นที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว

8. ครั้งที่แปด: คำสั่งศาลปกครองสูงสุด กรณี ละเมิดอำนาจศาล เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ศาลปกครองสูงสุดยังได้มีคำสั่งถึงผู้ที่กระทำการละเมิดอำนาจศาล กรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินคดีของศาลปกครองสูงสุดเรื่องท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท. โดยในครั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้ยืนยันถึงความยุติธรรมและเป็นกลางของศาล ในการพิจารณาคดีนี้อย่างรอบคอบทุกครั้ง โดยเฉพาะคำสั่งศาลเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 (ครั้งที่สอง)




สรุป

เมื่อพิจารณาจากคำสั่งศาลปกครองที่เกี่ยวกับประเด็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ผู้เขียนมีความเห็นส่วนตัวว่า ไม่มีศาลใดในโลกจะมีความเป็นธรรมและให้โอกาสประชาชนเท่ากับศาลปกครองของประเทศไทย เพราะถึงแม้ว่าจะมีผู้นำเรื่องท่อส่งก๊าซธรรมชาติมาฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองสักกี่ครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ศาลวินิจฉัยไปแล้วหลายครั้งหลายหน แต่ศาลปกครองก็ยังให้เหตุผลและวินิจฉัยให้แก่ผู้นำเรื่องขึ้นสู่ศาลได้เข้าใจทุกครั้ง โดยหากนับตั้งแต่ครั้งแรก (ปี 2550) ก็เป็นเวลาแล้ว 10 ปี

ทั้งนี้ จุดประสงค์ของผู้เขียนในบทความนี้ ก็เพื่อต้องการให้ผู้อ่านที่ติดตามและสนใจประเด็นความขัดแย้งเรื่องท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท. ได้รับทราบข้อมูลอย่างรอบด้าน เพราะไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ เราอาจจะได้เห็นคำสั่งของศาลปกครองเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นครั้งที่เก้าก็เป็นได้

ฉกาจนิตย์ จุณณะภาต นักกฎหมายพลังงาน
ที่มา : http://thaipublica.org/2017/06/chakartnit-8/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น