ชาติอาหรับ 6 ประเทศประกอบด้วย ซาอุดีอะราเบีย บาห์เรน อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลิเบีย และเยเมน ประสานมือกันตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศกาตาร์ ที่เป็นผู้ส่งออก LNG รายใหญ่ของโลก ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในลูกค้าที่ซื้อ LNG จากกาตาร์ การตัดความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นหลังจากการเยือนโลกอาหรับของ ปธน.ทรัมป์ ด้วยอ้างว่า กาตาร์ให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายอิสลาม ซึ่งได้สร้างรอยร้าวลึกบาดหมางระหว่างชาติต่างๆ ในอ่าวอาหรับ
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ได้โพสต์บทความผ่านช่องทางเฟซบุค หน้าเพจ Tevin at PTT เกี่ยวกับความตึงเครียดในตะวันออกกลางกับพลังงานไทย โดยแสดงความรู้สึกวิตก ซึ่งมีสาระสำคัญของบทความ สรุปให้เข้าใจว่า สถานการณ์ที่โลกต้องจับตาอยู่ในช่วงนี้คือความขัดแย้งในตะวันออกกลางเมื่อวันจันทร์ที่5มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียและกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางอีกหลายประเทศ ประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูต ปิดพรมแดนทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศกับกาตาร์ โดยความขัดแย้งรอบนี้มีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก เนื่องจากตะวันออกกลางเป็นกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก
อย่างไรก็ตาม ในความขัดแย้งในครั้งนี้ บทความของนายเทวินทร์ ระบุถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ คือการขนส่ง เนื่องจากในการขนส่งน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางนั้น เรือขนส่งน้ำมันไม่ได้รับน้ำมันจากประเทศเดียว แต่ผู้ซื้อจะขนน้ำมันจากหลายประเทศลงเรือมาด้วยกัน ที่ เรียกว่า "Co-load" เช่น รับน้ำมันที่กาตาร์แล้วไปแวะรับที่ UAE(สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์) หรือรับจากซาอุดิอาระเบียแล้วต่อไปรับที่กาตาร์ ก่อนที่จะวิ่งผ่านช่องแคบ Hormuz ออกมาจากอ่าวเปอร์เซียเพื่อไปยังปลายทาง
นายเทวินทร์ ยังเขียนถึงทางออกที่ประเทศไทยในฐานะที่เป็นผู้นำเข้าทั้งน้ำมันดิบและ LNG ควรจะต้องดำเนินการ คือการบริหารความเสี่ยงโดยกระจายการจัดหาแหล่งพลังงาน ไปยังภูมิภาคอื่นๆ จากปัจจุบัน ไทยนั้นซื้อน้ำมันส่วนใหญ่จากตะวันออกกลาง ซึ่งก็มีส่วนของกาตาร์อยู่บ้าง และมีสัญญาระยะยาวรับซื้อ LNG จากกาตาร์
โดยในส่วนของ LNG นั้น ทางกาตาร์ยังยืนยันว่าสามารถส่ง LNG ได้ตามสัญญา แต่เรื่องจากเรายังไม่รู้ว่าสถานการณ์จะลุกลามรุนแรงขึ้นหรือไม่ และเมื่อไหร่ ดังนั้น นายเทวนิทร์ จึงเสนอให้ ต้องเตรียมแผนสำรองที่จะจัดหาจากแหล่งอื่น หรือเก็บสำรองเพิ่มขึ้นด้วย โดยปัจจุบันเครือข่ายการจัดหาของ ปตท. ค่อนข้างมีความหลากหลายมากขึ้น แม้จะยังพึ่งพาตะวันออกกลางอยู่มาก แต่ได้เริ่มพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศผู้ผลิตต่างๆ เช่น รัสเซีย ออสเตรเลีย อาเซียน ลาตินอเมริกา และอัฟริกา ซึ่งในปีนนี้ ก็เพิ่งมีการเซ็นสัญญาจัดซื้อ LNG ระยะยาว กับ เชลล์ บีพี และเปโตรนาส ทำให้พอจะมีช่องทางจัดหาปิโตรเลียมจากแหล่งอื่นทดแทนได้หากตะวันออกกลางมีปัญหา พร้อมทั้งยังกระตุ้นให้ทุกฝ่ายติดตามดูสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นดังกล่าว ที่อาจจะมีผลกระทบต่อการจัดหา ราคา และความมั่นคงทางพลังงานในประเทศของไทยได้
แหล่งที่มา : http://energynewscenter.com / Facebook : Tevin at PTT
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น