29/11/61

ปตท.เซ็น MOU รถไฟรื้อลงทุน “สมาร์ทซิตี้” มุ่งทำเลบางซื่อ-อีอีซี

“ปตท.-ร.ฟ.ท.” เซ็น MOU ร่วมกันพัฒนาการขนส่ง ซื้อหัวรถจักรหนุนโลจิสติกส์รับรถไฟทางคู่ จับคู่เป็นพี่เลี้ยงพัฒนาโครงการสมาร์ทซิตี้ รีวิวแผน 10 จังหวัด ลงทุน 3.6 แสนล้าน มุ่งปักหมุด “บางซื่อ-เมืองภาคตะวันออก” เกาะไฮสปีดอีอีซี

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา อนุมัติให้ ร.ฟ.ท.เซ็นบันทึกกรอบความร่วมมือ (MOU) กับ บมจ.ปตท.เพื่อดำเนินการร่วมกันในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการขนส่ง โดยจัดซื้อหัวรถจักรและแคร่ขนส่งสินค้า พัฒนาโครงการสมาร์ทซิตี้ เป็นต้น

“เป็นกรอบความร่วมมือกว้าง ๆ ร.ฟ.ท.กับ ปตท.ต้องทำงานร่วมกันอีก ปีหน้าน่าจะเห็นเป็นรูปธรรม เช่น สมาร์ทซิตี้ที่บางซื่อ ที่ ปตท.สนใจลงทุน รวมถึงซื้อรถจักรขนสินค้าเหมือนที่ทีพีไอลงทุนซื้อมาก่อนหน้านี้”


นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการสมาร์ทซิตี้บางซื่อ ทาง ร.ฟ.ท.เป็นผู้ทำมาสเตอร์แพลน จะเปิดประมูล PPP ซึ่ง ปตท.ดูที่โอกาส เงื่อนไขประมูล ถึงจะตอบได้จะเข้าร่วมหรือไม่ ทั้งนี้ ปตท.เป็นพี่เลี้ยงโครงการนี้ให้กับ ร.ฟ.ท. โดยร่วมกับประเทศญี่ปุ่นศึกษาโครงการสมาร์ทซิตี้ที่บางซื่อให้


สำหรับสมาร์ทซิตี้แนวรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ทาง ปตท.สนใจจะเข้าร่วมลงทุนภายหลังจากที่ได้ผู้ชนะประมูลแล้ว ซึ่ง ปตท.สามารถเจรจาได้ทั้งกลุ่ม ซี.พี. และกลุ่มบีทีเอส เรื่องการเข้าไปร่วมลงทุน โดย ปตท.สนใจการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นหลัก ดังนั้น การลงทุนของ ปตท.ก็ต้องสอดรับกับนโยบายรัฐด้วย

“ปตท.เคยศึกษาสมาร์ทซิตี้ไว้ 10 พื้นที่แนวรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูงในภูมิภาค ตอนนี้ภาพการพัฒนาเปลี่ยนไปแล้ว เพราะรัฐมุ่งเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี ทาง ปตท.คงต้องโฟกัสที่อีอีซีก่อน แต่ยังระบุไม่ได้ว่าจะลงทุนที่จังหวัดไหนเป็นแห่งแรก”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ผลศึกษาสมาร์ทซิตี้ 10 พื้นที่ของ ปตท. ใช้เวลาพัฒนา 10-15 ปี ลงทุน 362,843 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.เชียงรากน้อย อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นสถานีรถไฟของสายสีแดง (รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์) และรถไฟความเร็วสูง พัฒนาเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจร ย่านธุรกิจ การค้า บริการที่ทันสมัยและที่อยู่อาศัย ควบคู่ไปกับเทคโนโลยี เช่น การสื่อสารระบบไร้สาย

2.พหลโยธิน จะพัฒนาเมืองใหม่รอบสถานีต่อยอดโครงการเอ็นเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์และพัฒนาพื้นที่ติดสถานีกลางบางซื่อเป็นย่านการค้าและบริการ มีรถบีอาร์ทีรองรับการเดินทาง และพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ สำนักงานและที่อยู่อาศัย

3.แหลมฉบัง จ.ชลบุรี พัฒนาเป็นย่านที่อยู่อาศัยของแรงงานนานาชาติ มีระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะรองรับ มีจุดจอดรถรอบสถานี มีการพัฒนาพาณิชยกรรม ศูนย์ชุมชน 4.ภูเก็ต เป็นย่านวิจัยและพัฒนา 5.เชียงใหม่ พัฒนาเป็นย่านพาณิชย์และสำนักงานรองรับการท่องเที่ยว

6.เด่นชัย พัฒนาพื้นที่รอบสถานีเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจร 7.หนองคาย พัฒนาโดยรอบสถานีรถไฟเป็นพาณิชยกรรม สำนักงาน พร้อมขยายพื้นที่อยู่อาศัยโดยรอบ ส่วนบริเวณสถานีนาทาจะเป็นศูนย์รวบรวมสินค้าระบบตู้คอนเทนเนอร์ (CY) จากจีนและลาวเพื่อกระจายสินค้านำเข้าและส่งออก 8.ขอนแก่น จะขยายพื้นที่พาณิชยกรรมของเมืองให้ใหญ่ขึ้น รัศมีรอบสถานีรถไฟถึงถนนมิตรภาพ 9.แก่งคอย จะพัฒนาพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยรอบสถานีรถไฟแก่งคอยและพื้นที่เมืองเดิม

และ 10.คลองหลวง เป็นย่านที่อยู่อาศัยมีโครงข่ายรถไฟเชื่อมไปยังสถานีเชียงราก ซึ่งใน 10 ปีแรก จะนำร่องที่พหลโยธิน เชียงรากน้อย แหลมฉบังและภูเก็ต ส่วนคลองหลวง เชียงใหม่ เด่นชัย ขอนแก่น หนองคายและแก่งคอย จะเป็นช่วง 5-15 ปี

สำหรับสมาร์ทซิตี้ย่านบางซื่อ 2,325 ไร่ ร.ฟ.ท.เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP 30-50 ปี ใน 15 ปีแรก ลงทุน 358,700 ล้านบาท แบ่งพัฒนา 3 เฟส เฟสละ 5 ปี มีองค์การเพื่อความมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ศึกษาให้ กำหนดการพัฒนา 9 โซน ระยะสั้นลงทุน 40,100 ล้านบาท ระยะกลาง 167,100 ล้านบาท และระยะยาว 151,500 ล้านบาท

ใน 5 ปีแรก เริ่มโซน A 35 ไร่ ติดสถานีกลางบางซื่อ เปิดประมูลในปี 2562 จากนั้นโซน D จะสร้างทางเดินลอยฟ้าเชื่อมบางซื่อกับหมอชิตเก่า และโซน D ย่านตึกแดง 119 ไร่ พัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ มีศูนย์การค้า โรงแรม สำนักงาน รองรับรถไฟฟ้าสายสีแดงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต จะเปิดในปี 2563

ขอบคุณแหล่งที่มา: www.prachachat.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น