กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับบริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) บริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือการวิจัยและพัฒนากายอุปกรณ์เพื่อสัตว์ทะเลพิการ โดยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กรม ทช. มีภารกิจหลักในการศึกษา วิจัย พัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงพืชและสัตว์ทะเลหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นที่ป่วยหรือได้รับบาดเจ็บ หากได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกต้องและได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว จะเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตได้มากยิ่งขึ้น
โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ในระหว่างปี 2558 - 2560 พบว่ามีการเกยตื้นสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเฉลี่ยปีละ 419 ตัว แบ่งเป็นเต่าทะเล 57% โลมาและวาฬ 38% และพะยูน 5% สาเหตุการเกยตื้นสำหรับเต่าทะเลและพะยูนส่วนใหญ่เกิดจากเครื่องมือประมง คิดเป็นสัดส่วน 74% และ 89% ตามลำดับ ในขณะที่การเกยตื้นของโลมาและวาฬส่วนใหญ่เกิดจากการป่วย ตามธรรมชาติ คิดเป็น 63% ซึ่งจะพบว่ากลุ่มของเต่าทะเลพบการเกยตื้นมากที่สุด
โดยเต่าทะเลที่ได้รับการช่วยเหลือบางกลุ่มเป็นเต่าทะเลพิการที่ไม่สามารถดำรงชีวิตในธรรมชาติได้ และจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงาน ในระยะยาว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของโครงการพัฒนานวัตกรรมรยางค์เทียม เพื่อช่วยเหลือเต่าทะเลที่พิการกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง และยินดีให้ความสนับสนุนทีมนักวิชาการและสัตวแพทย์ที่มีความชำนาญ และการอนุบาลสัตว์ทะเลหายากพิการที่ไม่สามารถปล่อยคืนสู่ทะเลได้
ศ.ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนโยบายในการ “สร้างคน สร้างสรรค์องค์ความรู้ และนวัตกรรม สร้างเสริมสังคมไทย ก้าวไกลในสังคมโลก” สำหรับความร่วมมือที่เกิดขึ้นนี้ถือได้ว่าเป็นการสร้างนวัตกรรมสำหรับสัตว์พิการ อันจะนำไปสู่การเสริมสร้าง ให้เต่าทะเลที่พิการได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถดำรงชีพได้ตามปกติ โดยจากปัญหาทางด้านสวัสดิภาพของเต่าทะเลพิการตามที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันนั้น ซึ่งการลงนามครั้งนี้ จะมีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี ซึ่งเป็นความร่วมมือกันทั้ง 4 องค์กร ในการพัฒนา วิจัย รวมทั้งออกแบบกายอุปกรณ์เพื่อสัตว์ทะเลพิการ มุ่งเน้นความร่วมมือในการดำเนินงาน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลทางวิชาการ พร้อมทั้งให้การสนับสนุน
ด้านคำปรึกษา ด้านวิชาการ และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างกัน โดยมีการนำหลักชีวกลศาสตร์ ร่วมกับการใช้วัสดุที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผนวกกับนวัตกรรมเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติมาประยุกต์ใช้ในงาน ชีวการแพทย์ เพื่อช่วยให้สัตว์ทะเลพิการสามารถดำรงชีพได้ตามปกติอีกครั้ง และยังถือเป็นการพัฒนาเทคนิคการใช้รยางค์เทียม เพื่อการรักษาสัตว์ทะเลหายากได้ต่อไปในอนาคตอีกด้วย
ขอบคุณแหล่งที่มา : www.naewna.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น