ทิศทางการใช้พลังงานเติบโตพร้อมกับเศรษฐกิจ มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2040 ประชากรโลกเพิ่มขึ้นเป็น 9,000 ล้านคนจากปัจจุบัน ทำให้แนวโน้มการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นพร้อมกับปัญหาเรื่องความร้อนที่มากขึ้น ทำให้เกิด “ภาวะเรือนกระจก” ซึ่งกระทบต่อธุรกิจพลังงาน เช่นเดียวกัน “เทคโนโลยี” มีบทบาทมากขึ้น และมีต้นทุนการผลิตลดต่ำลง ทั้งพลังงานลมและพลังงานโซลาร์ และมีการคาดการณ์ว่าทิศทางการใช้ “renewable” จะใช้เวลา 10-15 ปี หลังจากระบบกักเก็บพลังงาน (energy storage) ถูกลง นอกจากนี้ ยังมีพลังงานอื่นเข้ามาทดแทนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง LNG พลังงานก๊าซธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ตาม วันนี้เรายังต้องพึ่งพิงพลังงานน้ำมันและก๊าซอยู่ประมาณ 50% และในอนาคตอีก 20-30 ปีข้างหน้า
สิ่งที่จะมาดิสรัปต์พลังงาน อันดับแรก คือ ระบบดิจิทัลในการขุดเจาะที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถระเบิดชั้นหิน เห็นจากการผลิตฟอสซิลในสหรัฐ จากเดิมสหรัฐเป็นประเทศผู้ใช้ แต่ปัจจุบันมาส่งออก ทั้งก๊าซ น้ำมัน ส่วนกลุ่มโอเปก 15 ประเทศที่ผลิตน้ำมัน ผลิตลดลงเหลือ 40% จาก 60-70% ที่ผลิตออกมา เพราะมีประเทศใหม่ เช่น รัสเซีย นอร์เวย์ แอฟริกา เข้ามาผลิตพลังงานมากขึ้น ทำให้การควบคุมซัพพลายซอร์ซของโอเปกทำได้น้อยลง
ด้านความต้องการใช้ก็ขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะ กลุ่มประเทศเกิดใหม่ เช่น จีน อินเดีย อาเซียน ขณะเดียวกันรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ก็เริ่มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จากการกักเก็บพลังงานก็ดีขึ้น โดยคาดการณ์ว่า รถ EV ทั้งโลกมีประมาณ 5 ล้านคัน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่ประเทศจีน ยุโรป สหรัฐ จากจำนวนรถทั้งโลก 1.2 พันล้านคัน ขณะที่จำนวนรถในประเทศไทยประมาณ 39 ล้านคัน มีรถ EV 1,000 คัน ซึ่งก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น คาดว่าจะมีประมาณ 5-6 ล้านคัน ทำให้กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันประมาทไม่ได้ เทรนด์นี้จะเข้ามาได้เร็วเท่าไรขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องการส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ กำลังการผลิตไฟฟ้าจะมีเพียงพอต่อความต้องการใช้งานหรือไม่
ภาพรวมพลังงานไทย
ประเทศไทยนั้น พลังงานจากธรรมชาติยังเป็นพลังงานหลักของประเทศ ทั้งถ่านหิน ก๊าซ น้ำมัน และประเทศไทยต้องนำเข้าพลังงาน 85% จากตะวันออกกลาง แต่สัดส่วนการใช้น้ำมันน้อยลง โดยเฉพาะน้ำมันที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำมันเตา หรือน้ำมันที่ไฮซัลเฟอร์ต่าง ๆ จะใช้น้อยลง คนจะหันมาใช้ก๊าซจากธรรมชาติมากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยได้ 70% แต่ปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ภาครัฐจะเปิดสัมปทานช่วงต้นปี ซึ่งจะลงทุนมากน้อยเพียงใดต้องดูรายละเอียดของโครงการต่อไป
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง ทำให้การใช้พลังงานก็เติบโตไปด้วย แต่เติบโตน้อยกว่าเศรษฐกิจ เพราะความสำเร็จการนำพลังงานทดแทนมาใช้ทำได้ดี และภาคที่ใช้พลังงานโดยหลัก เช่น ภาคขนส่ง อุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นหน่วยพลังงานขั้นสุดท้ายทั้งหมด โดยการใช้ไฟฟ้านั้นเทียบเท่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ บางครั้งก็มากกว่าด้วย เนื่องจากมีประชากรแฝงเป็นจำนวนมาก เช่น นักท่องเที่ยวที่ทำให้มีการใช้ไฟฟ้า ดังนั้น ทิศทางจะเพิ่มขึ้น โดยมีก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไฟฟ้า ประมาณ 4,700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และการใช้ในอนาคต 4,000-5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานอื่น แต่เมื่อไรหากเอเนอร์จีสตอเรจมาก็จะสามารถกักเก็บไฟฟ้าได้ ถือเป็นเทคโนโลยีที่ต้องติดตาม
คาดการณ์อนาคตพลังงาน
การใช้น้ำมันส่วนใหญ่ค่อนข้างไม่เติบโตตามจีดีพี เช่น น้ำมันเตาติดลบแล้ว ซึ่งต่างจากอดีต และอนาคตปี 2020 องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ หรือ “International Maritime Organization (IMO)” โดยเฉพาะเรือขนส่งขนาดใหญ่อาจจะมีการประกาศการใช้พลังงานเข้ามาใช้เปลี่ยนไป อาจใช้น้ำมันเตาในการเผาไหม้อย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้น้ำมันดีเซลผสม ดังนั้น ความต้องการใช้น้ำมันเตาจะลดลง ทำอย่างไรที่จะนำน้ำมันเตาที่มีอยู่ปรับเปลี่ยนไปเป็นปิโตรเคมี หรือน้ำมันชนิดอื่น
และยังโชคดีที่ประเทศไทยมีการเติบโตด้านการท่องเที่ยว ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันเครื่องบิน (jet) ยังเติบโต ส่วนการใช้ก๊าซ LPG ยังทรงตัว เนื่องจากมีจำนวนคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคหันมาใช้ไฟฟ้าในการประกอบอาหารลดการใช้ LPG และก๊าซโซลีนก็ถูกทดแทนโดยการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ประหยัดมากขึ้น และระบบขนส่งที่ปรับรูปแบบก็มีทดแทนพลังงานที่เราผลิตได้อย่างต่อเนื่อง
ส่วนน้ำมันดีเซลก็ยังเป็นผลิตภัณฑ์หลัก เติบโตตามเศรษฐกิจของประเทศ แต่อนาคตก็อาจถูกทดแทนด้วยน้ำมันไบโอดีเซล และถูกชดเชยด้วยรถไฟฟ้าที่จะเข้ามา นั่นคือ ภาพการคาดการณ์ในอนาคตที่เรามองไว้
ปตท.เดินหน้าอย่างไร
“ปตท.” เกิดขึ้นมานานกว่า 40 ปี จากยุคประเทศไทยน้ำมันหมด เพราะมีแต่บริษัทน้ำมันต่างประเทศ รายได้ ปตท.เป็นไปตามราคาน้ำมัน และปริมาณการจำหน่าย ซึ่งบางปีก็ 2 ล้านล้านบาทหรือมากน้อยกว่านั้น ปัจจุบัน ปตท.เผชิญกับความท้าทายในอนาคต ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลง megatrend นโยบายภาครัฐ ประเด็นการยอมรับ-การสร้างวาทกรรมเชิงลบต่าง ๆ การปรับ business portfolio ซึ่งจะกำลังเปลี่ยนไปสู่การทำน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีมูลค่าสูง และทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวไทย โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่นับวันจะน้อยลง องค์กรและการจ้างงาน
ดังนั้น ปตท.จึงได้ปรับการดำเนินการผ่านบริษัทในเครือ ตั้งแต่ “ต้นน้ำ-ปลายน้ำ” นับจากการสำรวจแหล่งพลังงาน ถ่านหิน LNG, กลางน้ำ-ปลายน้ำ โดยเฉพาะเรื่องของโรงกลั่น ปิโตรเคมี การขายปลีกน้ำมัน รวมถึงไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ปตท.ให้ความสำคัญกับภารกิจการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานเพื่อประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก อีกทั้งเรายังมองหาธุรกิจใหม่ที่ตั้งขึ้นมาเมื่อปีก่อน เทคโนโลยีและวิศวกรรม เพื่อเน้นหาสิ่งใหม่ เพราะต้องการให้บริษัทเป็นความภูมิใจของสมบัติของชาติ และต้องการให้เติบโตไปด้วยความยั่งยืน
ชู 3D ลุย newS-curve
ภาพบ้าน ปตท. เรามีกลยุทธ์ 3 ด้าน หรือ 3D คือ do now, decide now และ design now เริ่มจากวันนี้เราต้องการเอาสิ่งที่เป็นส่วนเกินออกไป นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือดำเนินการต่อยอดธุรกิจเดิม พร้อมกันนี้ เราให้ความสำคัญเรื่อง new S-curve ที่จะเกิดขึ้น โดยความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่กำลังทำด้านต่าง ๆ เช่น สมาร์ทซิตี้
ส่วนเรื่องความมั่นคงนั้น ปัจจุบันเรามีท่อก๊าซอยู่ประมาณ 4,000 กว่ากิโลเมตรในประเทศไทย อยู่ในอ่าวไทย 3 ท่อ และขึ้นมาบนบกกระจายสู่กลุ่มอุตสาหกรรมกว่า 30 นิคม ในส่วนของตะวันตกและตะวันออก แต่อนาคตก็จะให้มีความเชื่อมโยงของทั้ง 2 ฝั่ง จะทำให้เกิดความมั่นคงของพลังงานและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงคลังก๊าซและน้ำมันด้วย
นอกจากนี้ ยังมีระบบ AI เข้ามาช่วย โดยทดลองใช้ในโรงแยกก๊าซโรงแรก ซึ่งจะขยายการใช้ให้ได้ทั้ง 6 โรง อยู่ระหว่างการบันทึกปัญหาและปรับปรุงแก้ไข และเรายังได้นำเทคโนโลยีโดรนมาใช้ในการตรวจสอบท่อก๊าซ การลงทุนขุดเจาะในทะเลซึ่งเป็นพื้นที่ที่คนไม่สามารถเข้าไปได้
เรื่องนี้บริษัทให้ความสำคัญอย่างมาก ซึ่งมีความร่วมมือในทุกหน่วยงาน ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน โดยกำหนดเป้าหมายไว้ 6 ด้าน เราเชี่ยวชาญด้านพลังงาน ไลฟ์สไตล์ ไบโออีโคโนมี สมาร์ทซิตี้ เป็นต้น นี่คือ ธีมที่เรากำลังจะทำเรื่องใหม่ ๆ ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า เพราะเราก็ถูกดิสรัปต์จากเทคโนโลยีต่าง ๆ
ขอบคุณแหล่งที่มา : www.prachachat.net
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น