29/11/61

3 ตัวแทน ปตท.สผ." แหล่งพลังงานบงกช ... ภารกิจส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น

"บงกช เมดอินบงกช จะผลิต จะเจาะ จะเสาะหา ให้ทุกชีวิตได้ยิ้มออก จากเหนือไปจรดแดนใต้ ขวานทองฝั่งซ้ายสุดทิศตะวันออก ทุ่มเทแรงใจ ดูแลบงกชโดยคนไทย และเราจะทำต่อไปเป็นคำสัญญาที่อยากจะบอก …"


ส่วนหนึ่งของเนื้อเพลงในมิวสิควิดีโอ "MADE IN BONGKOT" ที่เรียกเสียงฮือฮาจากชาวเน็ตได้ไม่น้อย เมื่อบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. จัดทำและเผยแพร่ MV ดังกล่าวบนออนไลน์ ในโอกาสที่ "แหล่งบงกช" แหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญกลางอ่าวไทย ได้ดำเนินการผลิตมาจนครบ 25 ปีเต็มในปีนี้ โดยนอกจากจะมีความแปลกใหม่ในการทำเพลง ด้วยการนำเอาวิธีการแรปที่ฮิตติดลมบนกันทั่วบ้านทั่วเมือง มาผสานเข้ากับการร้องแบบโอเปร่า ที่ได้ "เจ เจตมนต์" และ "สันติ ลุนเผ่" มาฟีเจอริ่งกันแบบลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ เนื้อหาสุดกินใจของเพลงนี้ยังสร้างมาจากเรื่องจริงแบบ Base on True Story ของชาวแท่นบงกชอีกด้วย

วันนี้มีโอกาสได้มาพูดคุยกับชาวบงกชตัวจริงเสียงจริง ที่เรื่องราวของพวกเขาโลดแล่นอยู่ในเพลง "MADE IN BONGKOT" เชื่อว่าเมื่ออ่านเรื่องราวของพวกเขาแล้ว ก็จะเข้าใจได้ว่า ภารกิจของพวกเขาไม่ใช่เพียงการส่งต่อพลังงานให้คนไทยได้ใช้อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ยังทำให้คนไทยมีองค์ความรู้ในการเสาะหาพลังงานเป็นของตัวเอง และส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ประเทศไทยพึ่งพาตนเองทางพลังงานได้อย่างยั่งยืนมาตลอด 25 ปีที่ผ่านมา


พกพาความรู้กลับบ้าน ผลิตก๊าซฯ ด้วยมือคนไทย
แหล่งบงกชในยุคบุกเบิกมี "โททาล" บริษัทน้ำมันชั้นนำของโลกจากฝรั่งเศสเป็นผู้ดำเนินการ โดยทีม ปตท.สผ. คนไทย ถูกส่งไปเรียนรู้งานด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียมตามแหล่งต่าง ๆ ของโททาลทั่วโลก ตั้งแต่เทคนิคทางวิศวกรรม การออกแบบโครงสร้าง การสำรวจ การเงินการบัญชี ทรัพยากรบุคคล เพื่อกลับมาพัฒนาแหล่งบงกช

"วุฒิพล ท้วมภูมิงาม" Executive Vice President, Production Asset Group หรือ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานโครงการผลิต ปตท.สผ. กล่าวว่า การเรียนรู้งานกับ 'ฝรั่ง' เป็นประสบการณ์ที่ท้าทาย โดยมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมเป็นอุปสรรคใหญ่ และเป็นประสบการณ์ที่รุ่นบุกเบิกไม่เคยลืม

"ปี 2532 ผมได้รับโทรศัพท์จากหัวหน้าให้ไปเรียนรู้งานที่ต่างประเทศ เพื่อกลับมาทำงานในโครงการบงกช ตอนนั้นก็รู้สึกภูมิใจ เพราะว่ามีวิศวกรไทยที่ได้รับเลือกอยู่แค่ 2 คน ผมเป็นหนึ่งในนั้น หลังจากนั้นก็มีเวลาเตรียมตัวเพียง 2 สัปดาห์ ก่อนจะบินไปฝรั่งเศส ช่วงนั้นผมรับผิดชอบเรื่องของการออกแบบอุปกรณ์การผลิต หลังจากนั้นก็ย้ายไปเรียนงานต่อที่สิงคโปร์ โดยดูเรื่องของรายละเอียดต่าง ๆ บนแท่น รวม ๆ แล้ว 2 ประเทศ ใช้เวลาประมาณ 2 ปี งานด้านออกแบบก็จบ พร้อมสำหรับการสร้างแท่นและเริ่มปฏิบัติการในแหล่งบงกช"

ทำไมเราต้องเรียนรู้จากต่างชาติ? "เมื่อก่อนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเป็นวิทยาการค่อนข้างใหม่ เรายังไม่มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ ตอนแรกที่รัฐบาลมอบหมายให้ ปตท.สผ. พัฒนาแหล่งบงกช จึงต้องส่งคนไปเรียนรู้กับฝรั่ง เพื่อที่ว่าวันหนึ่งเราคนไทยจะได้ทำงานแทนที่พนักงานต่างชาติเหล่านั้นได้"

นับจากวันแรกที่แหล่งบงกชเริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติในปี 2536 ทีมงาน ปตท.สผ. ต้องเร่งเรียนรู้ Know-How จากโททาล ก่อนจะรับโอนการเป็นผู้ดำเนินการ (Operatorship Transfer) ในอีก 5 ปีต่อมาให้ได้ โดย "วุฒิพล" เล่าถึงการทำงานใน 5 ปีแรกนั้น ว่า ผู้ปฏิบัติงานในยุคบุกเบิกส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันตกกว่า 80% ซึ่งมีวัฒนธรรมการสอนงานที่แตกต่างจากชาวเอเชีย คือ เขาจะให้เราเรียนรู้ด้วยตัวเอง ด้วยการสังเกตและจดจำ "เวลาฝรั่งเขาสอนงาน เขาไม่ได้สอนตรง ๆ ก็ต้องอาศัยสังเกตเขา เวลาสั่งงาน บางทีเขาสั่งเลย ไม่ได้มาอธิบายว่าต้องทำอย่างไร ซึ่งมันก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือ เราสามารถเรียนรู้งานได้ด้วยตัวเอง ข้อเสียคือ มันอาจเสียเวลาหน่อยกว่าจะจับได้ถูกทาง บรรยากาศก็กดดันพอสมควร เพราะเรามีเป้าหมายชัดเจนว่าอีก 5 ปี เราต้องเป็นผู้ดำเนินการเอง ต้องพยายามทำให้ได้ มันมีทั้งควา
มทั้งผิดหวัง เสียใจ และก็สมหวัง ผสมกันตลอด 5 ปีนั้น และในที่สุดเราก็ทำได้" การถ่ายโอนสิทธิการเป็นผู้ดำเนินการ หรือ Operatorship Transfer ของแหล่งบงกช จากโททาลเป็น ปตท.สผ. ที่สำเร็จลุล่วงด้วยดีในปี 2541 จึงเป็นบทพิสูจน์ว่า คนไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้ดำเนินงานด้านสำรวจและผลิต ในฐานะผู้ดำเนินการแหล่งก๊าซฯ ได้ด้วยตนเอง

คนที่เคยเป็นผู้เรียนรู้ จะกลายเป็นครูให้รุ่นน้อง
จากจุดเริ่มต้นที่เรียนรู้จากโททาล เมื่อได้มาเป็นผู้ดำเนินการเอง เราได้มีการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ ซึ่งตลอด 25 ปี แหล่งบงกชทำหน้าที่เป็นสถาบันแห่งการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของไทย และผลิต "นักเรียน" ไปแล้วหลายรุ่น ผสมผสานความรู้จากคนต่างยุคสมัยเข้าด้วยกัน ดังนั้น นอกจากจะเป็นสถาบันแห่งการเรียนรู้แล้ว ที่แห่งนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นในการ "ส่งต่อ" องค์ความรู้อีกด้วย

"ประทีป มหาสวัสดิ์" ผู้จัดการแท่นผลิตบงกชเหนือ ปตท.สผ. เขาใช้เวลา 21 วัน ไปกับการทำงานเพื่อบริหารจัดการแท่นบงกชให้สามารถเดินหน้าผลิตก๊าซธรรมชาติได้อย่างต่อเนื่อง กับอีก 21 วัน ที่เขาจะได้กลับบ้านอยู่กับครอบครัวที่เขารัก ในวันนี้ที่คนรุ่นก่อนได้เติบโตก้าวสู่ระดับผู้บริหาร พร้อม ๆ กับการเข้ามาแทนที่ด้วยคนรุ่นใหม่ ๆ คนที่เคยเป็นผู้เรียนรู้ในอดีต วันนี้จึงกลายเป็นผู้ที่สอนงานให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไป

ซึ่งดูเหมือนว่า 'ประทีป' จะต้องรับมือกับความแตกต่างในจุดนี้เป็นเรื่องสำคัญ "กว่าจะได้เริ่มทำงานที่แท่นบงกช ผมต้องไปอบรมที่อาบูดาบีอยู่ 12-13 เดือน กับอุปกรณ์จริง ๆ เพื่อจะได้ลงมือทำจริง ตอนนั้นระดับหัวหน้าขึ้นไปเป็นชาวต่างชาติทั้งหมดเลย แรก ๆ ก็มีปัญหาเรื่องภาษาบ้าง เราก็กัดฟันสู้ เพราะเรารู้ว่า เราจะได้กลับบ้าน เราจะได้กลับไปทำงานให้ชาติ" เขาเปิดบทสนทนา

เมื่อถามถึงการรับมือกับคนรุ่นใหม่ ๆ ประทีปตอบว่า "พอเรากลับมาทำงานกับคนไทยด้วยกัน ก็มีความสนิทใจกันมากขึ้น การรับมือกับเด็กรุ่นใหม่ ๆ ตอนแรกก็ยาก เพราะเวลาที่เราสั่งงาน น้อง ๆ ก็มักจะมีคำถามกลับมาเสมอว่า ทำไปทำไม แต่พอเริ่มจับทางถูก เราก็เข้าใจว่า การที่เขาถามอย่างนั้น ก็เพราะว่าตัวเขาเองจะได้ลองคิดหาวิธีการใหม่ ๆ ที่อาจจะได้ประสิทธิภาพมากกว่าเดิม หรือ ผลลัพธ์ดีขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น การทำงานกับคนรุ่นใหม่ เราต้องชัดเจนว่าต้องการอะไร เพราะอะไร และให้โอกาสเขาลองผิดลองถูก โดยเราคอยดูอยู่ห่าง ๆ และเป็นที่พึ่งเวลาเขาเจอปัญหา"

มีแนวทางการผสานคนหลายร้อยให้ทำงานร่วมกันอย่างไร "เราอยู่กันแบบพี่น้อง ไม่แบ่งแยกกัน ต้องยอมรับว่า การทำงานของเรายากขึ้นทุกวัน เพราะเรามีเครื่องไม้เครื่องมือเยอะขึ้น แต่ว่ามีคนเท่าเดิม การบริหารคนให้มีประสิทธิภาพเป็นเรื่องสำคัญมาก และต้องอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยสูงสุด สิ่งหนึ่งที่ผมสอนทุกคนเสมอ ก็คือ ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่เสมอ การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น" ประทีปกล่าว

บงกชไม่ใช่แค่ที่ทำงาน แต่มันคือบ้านหลังที่สอง
สุภาพสตรีที่นั่งอยู่ข้างหน้าเรา คือ สาวแกร่งที่ปฏิบัติงานบนแท่นบงกช ทว่ามีท่าทางกริยาอ่อนหวาน เราจึงเปิดประเด็นกับ "กนกพร สินธวารยัน" วิศวกรกระบวนการผลิต ฝ่ายวิศวกรรมอุปกรณ์การผลิต ปตท.สผ. เรื่องการปรับตัวในบ้านหลังที่สองของเธอ ว่า "แรก ๆ ไม่รู้จักใครเลย ผู้ชายแต่ละคนก็หน้าตาน่ากลัวกันทั้งนั้น (หัวเราะ) ช่วงแรกเขาก็จะทำหน้านิ่ง ๆ แต่พอลองพูดคุยด้วยเรื่องต่าง ๆ นานา สักประมาณ 3 เดือน ก็เริ่มรู้จักกัน และค่อย ๆ ปรับตัวเข้าหากัน"

ผู้หญิงบนแท่นมีน้อย? "ใช่ค่ะ มีภาวะเกิร์ลแก๊ง ผู้หญิงก็จะนอนห้องเดียวกัน รอบการทำงานบนแท่นฯ ก็มีผู้หญิงสัก 2-3 คน ก็จะเริ่มจับกลุ่มกันบ้าง" ปกติผู้หญิงทำอะไรบนแท่นยามว่าง "T25 ค่ะ (หัวเราะ) ก็มีฟิตเนสบ้าง บางทีก็ลงไปวิ่ง แต่ไม่ได้ถึงกับลงไปเตะบอลกับพี่ ๆ เขา บางทีก็มีร้องเพลง เขามีเล่นดนตรี ก็ไปร้องเพลง ซ้อมดนตรีบ้าง"

เมื่อเราพูดคุยถึงการทำงานบนแท่งบงกช "กนกพร" เล่าว่า "พี่ ๆ เขาค่อนข้างให้ความใส่ใจดี แต่ที่สำคัญกว่า คือ การเปิดใจและรับฟังความคิดเห็นของเรา บางทีเราเห็นในสิ่งที่เขาไม่เห็น เราก็เสนอไอเดียได้ ถ้าสามารถพิสูจน์ว่า ไอเดียนั้นสามารถทำได้จริง และเพิ่มประสิทธิภาพประสิทธิผลของการทำงานด้วยแล้ว พี่ ๆ เขาก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน เรารู้สึกว่า เขาเห็นคุณค่าของพลังเล็ก ๆ อย่างเรา การที่เรามีการส่งต่อองค์ความรู้ มันไม่ใช่แค่เรียนรู้มา แต่มันต่อยอดไปได้เรื่อย ๆ จุดนี้เป็นจุดที่รู้สึกว่า การทำงานกลายเป็นเรื่องสนุกสำหรับคนรุ่นใหม่ ที่สำคัญอีกอย่าง คือ ที่ ปตท.สผ. ให้โอกาสได้เรียนรู้งานหลากหลายมาก การได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติงานจริง ทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นหน้างานมากขึ้น เวลาจะปรับเปลี่ยนอะไร พัฒนาอะไร ก็จะอิงกับความเป็นจริงว่า มันจะต้องสะดวกต่อคนที่ใช้งานเครื่องมืออุปกรณ์นั้นจริง ๆ"

เมื่อถามถึงสิ่งที่ 'กนกพร' ได้เรียนรู้จากแท่นบงกช นอกเหนือจากการทำงาน เธอยิ้มแล้วเล่าว่า "อย่างแรก คือ ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ เราได้เห็นฉลามวาฬมาว่ายน้ำรอบแท่นหลายครั้ง ทำให้รู้สึกว่า เรายิ่งต้องเข้มงวดกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ อย่างที่ 2 คือ เรื่องความรักครอบครัว ส่วนใหญ่คนที่อยู่บนนั้น รักครอบครัวนะ อย่างตอนเย็นก็จะเห็นคนเป็นพ่อเฟสไทม์คุยกับลูก ได้เห็นด้านอ่อนโยนที่ปกติตอนทำงานไม่เห็น ซึ่งถ้าเป็นการทำงานในออฟฟิศ ถ้าเลิกงาน ก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ก็คงไม่เห็นด้านอ่อนโยนแบบนี้"

การจัดการความสัมพันธ์กับครอบครัวของจึงเป็นเรื่องสุดท้ายที่เราขอให้ 'กนกพร' เล่าถึง "ที่บ้านค่อนข้างชินกับการที่เราต้องเดินทางบ่อย ๆ เพราะตั้งแต่ทำงานก็เดินทางบ่อยมาตลอด ช่วงแรกที่เข้ามาทำงานก็จะอยู่ที่แหล่งสิริกิติ์ พิษณุโลก ตอนนั้นก็ต้องเดินทางทุกสัปดาห์เลย มีบินไปต่างประเทศเดือนสองเดือน ครอบครัวก็เข้าใจดีค่ะ ถ้าพูดถึงการทำงานบนแท่น เขาก็ห่วงนะ แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นไม่ให้ไป เพราะเขาไว้ใจกับมาตรฐานความปลอดภัยของบริษัท"

ภารกิจของพวกเขาทั้ง 3 คน ในวันนี้ คือ การสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่แค่ให้คนไทยมีพลังงานจากปิโตรเลียมใช้ แต่ต้องมีองค์ความรู้ในการแสวงหาพลังงานที่เป็นของคนไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทย อย่างแท้จริง ...

ขอบคุณแหล่งที่มา : http://www.thansettakij.com

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร PTT Transform 2019

เมื่อความต้องการพลังงานในอนาคตถูกปรับเปลี่ยน เทคโนโลยีใหม่เข้ามาดิสรัปต์ ทำให้รูปแบบการใช้พลังงานเปลี่ยนไป จำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ธุรกิจพลังงานจำเป็นต้องปรับตัวรับมือ พร้อมทั้งสร้างสรรค์สิ่งใหม่ “ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา THAILAND 2019 ที่ “ประชาชาติธุรกิจ” จัดขึ้นว่า เทคโนโลยีดิสรัปท์พลังงาน


ทิศทางการใช้พลังงานเติบโตพร้อมกับเศรษฐกิจ มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2040 ประชากรโลกเพิ่มขึ้นเป็น 9,000 ล้านคนจากปัจจุบัน ทำให้แนวโน้มการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นพร้อมกับปัญหาเรื่องความร้อนที่มากขึ้น ทำให้เกิด “ภาวะเรือนกระจก” ซึ่งกระทบต่อธุรกิจพลังงาน เช่นเดียวกัน “เทคโนโลยี” มีบทบาทมากขึ้น และมีต้นทุนการผลิตลดต่ำลง ทั้งพลังงานลมและพลังงานโซลาร์ และมีการคาดการณ์ว่าทิศทางการใช้ “renewable” จะใช้เวลา 10-15 ปี หลังจากระบบกักเก็บพลังงาน (energy storage) ถูกลง นอกจากนี้ ยังมีพลังงานอื่นเข้ามาทดแทนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง LNG พลังงานก๊าซธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ตาม วันนี้เรายังต้องพึ่งพิงพลังงานน้ำมันและก๊าซอยู่ประมาณ 50% และในอนาคตอีก 20-30 ปีข้างหน้า

สิ่งที่จะมาดิสรัปต์พลังงาน อันดับแรก คือ ระบบดิจิทัลในการขุดเจาะที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถระเบิดชั้นหิน เห็นจากการผลิตฟอสซิลในสหรัฐ จากเดิมสหรัฐเป็นประเทศผู้ใช้ แต่ปัจจุบันมาส่งออก ทั้งก๊าซ น้ำมัน ส่วนกลุ่มโอเปก 15 ประเทศที่ผลิตน้ำมัน ผลิตลดลงเหลือ 40% จาก 60-70% ที่ผลิตออกมา เพราะมีประเทศใหม่ เช่น รัสเซีย นอร์เวย์ แอฟริกา เข้ามาผลิตพลังงานมากขึ้น ทำให้การควบคุมซัพพลายซอร์ซของโอเปกทำได้น้อยลง

ด้านความต้องการใช้ก็ขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะ กลุ่มประเทศเกิดใหม่ เช่น จีน อินเดีย อาเซียน ขณะเดียวกันรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ก็เริ่มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จากการกักเก็บพลังงานก็ดีขึ้น โดยคาดการณ์ว่า รถ EV ทั้งโลกมีประมาณ 5 ล้านคัน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่ประเทศจีน ยุโรป สหรัฐ จากจำนวนรถทั้งโลก 1.2 พันล้านคัน ขณะที่จำนวนรถในประเทศไทยประมาณ 39 ล้านคัน มีรถ EV 1,000 คัน ซึ่งก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น คาดว่าจะมีประมาณ 5-6 ล้านคัน ทำให้กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันประมาทไม่ได้ เทรนด์นี้จะเข้ามาได้เร็วเท่าไรขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องการส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ กำลังการผลิตไฟฟ้าจะมีเพียงพอต่อความต้องการใช้งานหรือไม่

ภาพรวมพลังงานไทย

ประเทศไทยนั้น พลังงานจากธรรมชาติยังเป็นพลังงานหลักของประเทศ ทั้งถ่านหิน ก๊าซ น้ำมัน และประเทศไทยต้องนำเข้าพลังงาน 85% จากตะวันออกกลาง แต่สัดส่วนการใช้น้ำมันน้อยลง โดยเฉพาะน้ำมันที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำมันเตา หรือน้ำมันที่ไฮซัลเฟอร์ต่าง ๆ จะใช้น้อยลง คนจะหันมาใช้ก๊าซจากธรรมชาติมากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยได้ 70% แต่ปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ภาครัฐจะเปิดสัมปทานช่วงต้นปี ซึ่งจะลงทุนมากน้อยเพียงใดต้องดูรายละเอียดของโครงการต่อไป

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง ทำให้การใช้พลังงานก็เติบโตไปด้วย แต่เติบโตน้อยกว่าเศรษฐกิจ เพราะความสำเร็จการนำพลังงานทดแทนมาใช้ทำได้ดี และภาคที่ใช้พลังงานโดยหลัก เช่น ภาคขนส่ง อุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นหน่วยพลังงานขั้นสุดท้ายทั้งหมด โดยการใช้ไฟฟ้านั้นเทียบเท่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ บางครั้งก็มากกว่าด้วย เนื่องจากมีประชากรแฝงเป็นจำนวนมาก เช่น นักท่องเที่ยวที่ทำให้มีการใช้ไฟฟ้า ดังนั้น ทิศทางจะเพิ่มขึ้น โดยมีก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไฟฟ้า ประมาณ 4,700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และการใช้ในอนาคต 4,000-5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานอื่น แต่เมื่อไรหากเอเนอร์จีสตอเรจมาก็จะสามารถกักเก็บไฟฟ้าได้ ถือเป็นเทคโนโลยีที่ต้องติดตาม

คาดการณ์อนาคตพลังงาน

การใช้น้ำมันส่วนใหญ่ค่อนข้างไม่เติบโตตามจีดีพี เช่น น้ำมันเตาติดลบแล้ว ซึ่งต่างจากอดีต และอนาคตปี 2020 องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ หรือ “International Maritime Organization (IMO)” โดยเฉพาะเรือขนส่งขนาดใหญ่อาจจะมีการประกาศการใช้พลังงานเข้ามาใช้เปลี่ยนไป อาจใช้น้ำมันเตาในการเผาไหม้อย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้น้ำมันดีเซลผสม ดังนั้น ความต้องการใช้น้ำมันเตาจะลดลง ทำอย่างไรที่จะนำน้ำมันเตาที่มีอยู่ปรับเปลี่ยนไปเป็นปิโตรเคมี หรือน้ำมันชนิดอื่น

และยังโชคดีที่ประเทศไทยมีการเติบโตด้านการท่องเที่ยว ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันเครื่องบิน (jet) ยังเติบโต ส่วนการใช้ก๊าซ LPG ยังทรงตัว เนื่องจากมีจำนวนคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคหันมาใช้ไฟฟ้าในการประกอบอาหารลดการใช้ LPG และก๊าซโซลีนก็ถูกทดแทนโดยการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ประหยัดมากขึ้น และระบบขนส่งที่ปรับรูปแบบก็มีทดแทนพลังงานที่เราผลิตได้อย่างต่อเนื่อง

ส่วนน้ำมันดีเซลก็ยังเป็นผลิตภัณฑ์หลัก เติบโตตามเศรษฐกิจของประเทศ แต่อนาคตก็อาจถูกทดแทนด้วยน้ำมันไบโอดีเซล และถูกชดเชยด้วยรถไฟฟ้าที่จะเข้ามา นั่นคือ ภาพการคาดการณ์ในอนาคตที่เรามองไว้

ปตท.เดินหน้าอย่างไร

“ปตท.” เกิดขึ้นมานานกว่า 40 ปี จากยุคประเทศไทยน้ำมันหมด เพราะมีแต่บริษัทน้ำมันต่างประเทศ รายได้ ปตท.เป็นไปตามราคาน้ำมัน และปริมาณการจำหน่าย ซึ่งบางปีก็ 2 ล้านล้านบาทหรือมากน้อยกว่านั้น ปัจจุบัน ปตท.เผชิญกับความท้าทายในอนาคต ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลง megatrend นโยบายภาครัฐ ประเด็นการยอมรับ-การสร้างวาทกรรมเชิงลบต่าง ๆ การปรับ business portfolio ซึ่งจะกำลังเปลี่ยนไปสู่การทำน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีมูลค่าสูง และทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวไทย โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่นับวันจะน้อยลง องค์กรและการจ้างงาน

ดังนั้น ปตท.จึงได้ปรับการดำเนินการผ่านบริษัทในเครือ ตั้งแต่ “ต้นน้ำ-ปลายน้ำ” นับจากการสำรวจแหล่งพลังงาน ถ่านหิน LNG, กลางน้ำ-ปลายน้ำ โดยเฉพาะเรื่องของโรงกลั่น ปิโตรเคมี การขายปลีกน้ำมัน รวมถึงไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ปตท.ให้ความสำคัญกับภารกิจการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานเพื่อประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก อีกทั้งเรายังมองหาธุรกิจใหม่ที่ตั้งขึ้นมาเมื่อปีก่อน เทคโนโลยีและวิศวกรรม เพื่อเน้นหาสิ่งใหม่ เพราะต้องการให้บริษัทเป็นความภูมิใจของสมบัติของชาติ และต้องการให้เติบโตไปด้วยความยั่งยืน

ชู 3D ลุย newS-curve

ภาพบ้าน ปตท. เรามีกลยุทธ์ 3 ด้าน หรือ 3D คือ do now, decide now และ design now เริ่มจากวันนี้เราต้องการเอาสิ่งที่เป็นส่วนเกินออกไป นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือดำเนินการต่อยอดธุรกิจเดิม พร้อมกันนี้ เราให้ความสำคัญเรื่อง new S-curve ที่จะเกิดขึ้น โดยความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่กำลังทำด้านต่าง ๆ เช่น สมาร์ทซิตี้

ส่วนเรื่องความมั่นคงนั้น ปัจจุบันเรามีท่อก๊าซอยู่ประมาณ 4,000 กว่ากิโลเมตรในประเทศไทย อยู่ในอ่าวไทย 3 ท่อ และขึ้นมาบนบกกระจายสู่กลุ่มอุตสาหกรรมกว่า 30 นิคม ในส่วนของตะวันตกและตะวันออก แต่อนาคตก็จะให้มีความเชื่อมโยงของทั้ง 2 ฝั่ง จะทำให้เกิดความมั่นคงของพลังงานและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงคลังก๊าซและน้ำมันด้วย

นอกจากนี้ ยังมีระบบ AI เข้ามาช่วย โดยทดลองใช้ในโรงแยกก๊าซโรงแรก ซึ่งจะขยายการใช้ให้ได้ทั้ง 6 โรง อยู่ระหว่างการบันทึกปัญหาและปรับปรุงแก้ไข และเรายังได้นำเทคโนโลยีโดรนมาใช้ในการตรวจสอบท่อก๊าซ การลงทุนขุดเจาะในทะเลซึ่งเป็นพื้นที่ที่คนไม่สามารถเข้าไปได้

เรื่องนี้บริษัทให้ความสำคัญอย่างมาก ซึ่งมีความร่วมมือในทุกหน่วยงาน ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน โดยกำหนดเป้าหมายไว้ 6 ด้าน เราเชี่ยวชาญด้านพลังงาน ไลฟ์สไตล์ ไบโออีโคโนมี สมาร์ทซิตี้ เป็นต้น นี่คือ ธีมที่เรากำลังจะทำเรื่องใหม่ ๆ ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า เพราะเราก็ถูกดิสรัปต์จากเทคโนโลยีต่าง ๆ

ขอบคุณแหล่งที่มา : www.prachachat.net

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จับมือ3องค์กรพัฒนาอวัยวะเทียมให้สัตว์ทะเลพิการ

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับบริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) บริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือการวิจัยและพัฒนากายอุปกรณ์เพื่อสัตว์ทะเลพิการ โดยนายจตุพร บุรุษพัฒน์  อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กรม ทช. มีภารกิจหลักในการศึกษา วิจัย พัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงพืชและสัตว์ทะเลหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นที่ป่วยหรือได้รับบาดเจ็บ หากได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกต้องและได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว จะเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตได้มากยิ่งขึ้น


โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ในระหว่างปี 2558 - 2560 พบว่ามีการเกยตื้นสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเฉลี่ยปีละ 419 ตัว แบ่งเป็นเต่าทะเล 57% โลมาและวาฬ 38% และพะยูน 5% สาเหตุการเกยตื้นสำหรับเต่าทะเลและพะยูนส่วนใหญ่เกิดจากเครื่องมือประมง คิดเป็นสัดส่วน 74% และ 89% ตามลำดับ ในขณะที่การเกยตื้นของโลมาและวาฬส่วนใหญ่เกิดจากการป่วย ตามธรรมชาติ คิดเป็น 63% ซึ่งจะพบว่ากลุ่มของเต่าทะเลพบการเกยตื้นมากที่สุด

โดยเต่าทะเลที่ได้รับการช่วยเหลือบางกลุ่มเป็นเต่าทะเลพิการที่ไม่สามารถดำรงชีวิตในธรรมชาติได้ และจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงาน ในระยะยาว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของโครงการพัฒนานวัตกรรมรยางค์เทียม เพื่อช่วยเหลือเต่าทะเลที่พิการกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง และยินดีให้ความสนับสนุนทีมนักวิชาการและสัตวแพทย์ที่มีความชำนาญ และการอนุบาลสัตว์ทะเลหายากพิการที่ไม่สามารถปล่อยคืนสู่ทะเลได้

ศ.ดร. บัณฑิต  เอื้ออาภรณ์  อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนโยบายในการ “สร้างคน สร้างสรรค์องค์ความรู้ และนวัตกรรม สร้างเสริมสังคมไทย ก้าวไกลในสังคมโลก” สำหรับความร่วมมือที่เกิดขึ้นนี้ถือได้ว่าเป็นการสร้างนวัตกรรมสำหรับสัตว์พิการ อันจะนำไปสู่การเสริมสร้าง ให้เต่าทะเลที่พิการได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถดำรงชีพได้ตามปกติ โดยจากปัญหาทางด้านสวัสดิภาพของเต่าทะเลพิการตามที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันนั้น ซึ่งการลงนามครั้งนี้ จะมีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี ซึ่งเป็นความร่วมมือกันทั้ง 4 องค์กร ในการพัฒนา วิจัย รวมทั้งออกแบบกายอุปกรณ์เพื่อสัตว์ทะเลพิการ มุ่งเน้นความร่วมมือในการดำเนินงาน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลทางวิชาการ พร้อมทั้งให้การสนับสนุน

ด้านคำปรึกษา ด้านวิชาการ และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างกัน โดยมีการนำหลักชีวกลศาสตร์ ร่วมกับการใช้วัสดุที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผนวกกับนวัตกรรมเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติมาประยุกต์ใช้ในงาน ชีวการแพทย์ เพื่อช่วยให้สัตว์ทะเลพิการสามารถดำรงชีพได้ตามปกติอีกครั้ง และยังถือเป็นการพัฒนาเทคนิคการใช้รยางค์เทียม เพื่อการรักษาสัตว์ทะเลหายากได้ต่อไปในอนาคตอีกด้วย

ขอบคุณแหล่งที่มา : www.naewna.com

ปตท.เซ็น MOU รถไฟรื้อลงทุน “สมาร์ทซิตี้” มุ่งทำเลบางซื่อ-อีอีซี

“ปตท.-ร.ฟ.ท.” เซ็น MOU ร่วมกันพัฒนาการขนส่ง ซื้อหัวรถจักรหนุนโลจิสติกส์รับรถไฟทางคู่ จับคู่เป็นพี่เลี้ยงพัฒนาโครงการสมาร์ทซิตี้ รีวิวแผน 10 จังหวัด ลงทุน 3.6 แสนล้าน มุ่งปักหมุด “บางซื่อ-เมืองภาคตะวันออก” เกาะไฮสปีดอีอีซี

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา อนุมัติให้ ร.ฟ.ท.เซ็นบันทึกกรอบความร่วมมือ (MOU) กับ บมจ.ปตท.เพื่อดำเนินการร่วมกันในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการขนส่ง โดยจัดซื้อหัวรถจักรและแคร่ขนส่งสินค้า พัฒนาโครงการสมาร์ทซิตี้ เป็นต้น

“เป็นกรอบความร่วมมือกว้าง ๆ ร.ฟ.ท.กับ ปตท.ต้องทำงานร่วมกันอีก ปีหน้าน่าจะเห็นเป็นรูปธรรม เช่น สมาร์ทซิตี้ที่บางซื่อ ที่ ปตท.สนใจลงทุน รวมถึงซื้อรถจักรขนสินค้าเหมือนที่ทีพีไอลงทุนซื้อมาก่อนหน้านี้”


นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการสมาร์ทซิตี้บางซื่อ ทาง ร.ฟ.ท.เป็นผู้ทำมาสเตอร์แพลน จะเปิดประมูล PPP ซึ่ง ปตท.ดูที่โอกาส เงื่อนไขประมูล ถึงจะตอบได้จะเข้าร่วมหรือไม่ ทั้งนี้ ปตท.เป็นพี่เลี้ยงโครงการนี้ให้กับ ร.ฟ.ท. โดยร่วมกับประเทศญี่ปุ่นศึกษาโครงการสมาร์ทซิตี้ที่บางซื่อให้


สำหรับสมาร์ทซิตี้แนวรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ทาง ปตท.สนใจจะเข้าร่วมลงทุนภายหลังจากที่ได้ผู้ชนะประมูลแล้ว ซึ่ง ปตท.สามารถเจรจาได้ทั้งกลุ่ม ซี.พี. และกลุ่มบีทีเอส เรื่องการเข้าไปร่วมลงทุน โดย ปตท.สนใจการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นหลัก ดังนั้น การลงทุนของ ปตท.ก็ต้องสอดรับกับนโยบายรัฐด้วย

“ปตท.เคยศึกษาสมาร์ทซิตี้ไว้ 10 พื้นที่แนวรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูงในภูมิภาค ตอนนี้ภาพการพัฒนาเปลี่ยนไปแล้ว เพราะรัฐมุ่งเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี ทาง ปตท.คงต้องโฟกัสที่อีอีซีก่อน แต่ยังระบุไม่ได้ว่าจะลงทุนที่จังหวัดไหนเป็นแห่งแรก”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ผลศึกษาสมาร์ทซิตี้ 10 พื้นที่ของ ปตท. ใช้เวลาพัฒนา 10-15 ปี ลงทุน 362,843 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.เชียงรากน้อย อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นสถานีรถไฟของสายสีแดง (รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์) และรถไฟความเร็วสูง พัฒนาเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจร ย่านธุรกิจ การค้า บริการที่ทันสมัยและที่อยู่อาศัย ควบคู่ไปกับเทคโนโลยี เช่น การสื่อสารระบบไร้สาย

2.พหลโยธิน จะพัฒนาเมืองใหม่รอบสถานีต่อยอดโครงการเอ็นเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์และพัฒนาพื้นที่ติดสถานีกลางบางซื่อเป็นย่านการค้าและบริการ มีรถบีอาร์ทีรองรับการเดินทาง และพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ สำนักงานและที่อยู่อาศัย

3.แหลมฉบัง จ.ชลบุรี พัฒนาเป็นย่านที่อยู่อาศัยของแรงงานนานาชาติ มีระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะรองรับ มีจุดจอดรถรอบสถานี มีการพัฒนาพาณิชยกรรม ศูนย์ชุมชน 4.ภูเก็ต เป็นย่านวิจัยและพัฒนา 5.เชียงใหม่ พัฒนาเป็นย่านพาณิชย์และสำนักงานรองรับการท่องเที่ยว

6.เด่นชัย พัฒนาพื้นที่รอบสถานีเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจร 7.หนองคาย พัฒนาโดยรอบสถานีรถไฟเป็นพาณิชยกรรม สำนักงาน พร้อมขยายพื้นที่อยู่อาศัยโดยรอบ ส่วนบริเวณสถานีนาทาจะเป็นศูนย์รวบรวมสินค้าระบบตู้คอนเทนเนอร์ (CY) จากจีนและลาวเพื่อกระจายสินค้านำเข้าและส่งออก 8.ขอนแก่น จะขยายพื้นที่พาณิชยกรรมของเมืองให้ใหญ่ขึ้น รัศมีรอบสถานีรถไฟถึงถนนมิตรภาพ 9.แก่งคอย จะพัฒนาพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยรอบสถานีรถไฟแก่งคอยและพื้นที่เมืองเดิม

และ 10.คลองหลวง เป็นย่านที่อยู่อาศัยมีโครงข่ายรถไฟเชื่อมไปยังสถานีเชียงราก ซึ่งใน 10 ปีแรก จะนำร่องที่พหลโยธิน เชียงรากน้อย แหลมฉบังและภูเก็ต ส่วนคลองหลวง เชียงใหม่ เด่นชัย ขอนแก่น หนองคายและแก่งคอย จะเป็นช่วง 5-15 ปี

สำหรับสมาร์ทซิตี้ย่านบางซื่อ 2,325 ไร่ ร.ฟ.ท.เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP 30-50 ปี ใน 15 ปีแรก ลงทุน 358,700 ล้านบาท แบ่งพัฒนา 3 เฟส เฟสละ 5 ปี มีองค์การเพื่อความมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ศึกษาให้ กำหนดการพัฒนา 9 โซน ระยะสั้นลงทุน 40,100 ล้านบาท ระยะกลาง 167,100 ล้านบาท และระยะยาว 151,500 ล้านบาท

ใน 5 ปีแรก เริ่มโซน A 35 ไร่ ติดสถานีกลางบางซื่อ เปิดประมูลในปี 2562 จากนั้นโซน D จะสร้างทางเดินลอยฟ้าเชื่อมบางซื่อกับหมอชิตเก่า และโซน D ย่านตึกแดง 119 ไร่ พัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ มีศูนย์การค้า โรงแรม สำนักงาน รองรับรถไฟฟ้าสายสีแดงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต จะเปิดในปี 2563

ขอบคุณแหล่งที่มา: www.prachachat.net