23/8/60

คนจริง ต้องไม่กลัวการตรวจสอบ

หลังจากใช้เวลาถึง 2 ปีเต็ม ในที่สุด สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. ได้ส่งมอบ ข้อเสนอการปฏิรูปประเทศจำนวน 11 ด้าน ครอบคลุม 37 วาระการปฏิรูปประเทศให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นที่เรียบร้อย



สำหรับประเด็นการปฏิรูปที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องโดยตรงกับ เศรษฐกิจของประเทศคือ ข้อเสนอเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์พลังงานชาติ ที่มี คุรุจิต นาครทรรพ เป็นประธานกรรมาธิการศึกษาในเรื่องนี้

โดยผลของการศึกษาก็มาจากการเรียกร้องของหน่วยงานภาครัฐที่ได้สอบถามมายัง สปท. จะให้มีการส่งเสริม ธรรมาภิบาลและความโปร่งใส ในองค์กร NGO อย่างไรได้บ้าง เพราะกลุ่มนักเคลื่อนไหวเหล่านี้ได้สร้างความวุ่นวายและต่อต้านนโยบายด้านพลังงานซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น โครงการโรงไฟฟ้าที่กระบี่และเทพา การเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และสัมปทานแหล่งก๊าซในอ่าวไทยที่กำลังจะหมดการสัมปทานลง ซึ่งล้วนแต่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบโดยตรง


อาทิ ความเสียหายที่จะเกิดจากการประท้วงของเอ็นจีโอ จนทำให้ การสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ต้องชะงักไป ประเมินเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ อยู่ที่ประมาณ 5 พันล้านบาท รวมทั้ง สูญเสียโอกาสในการจ้างงาน ไม่น้อยกว่า 2 แสนอัตรา

การคัดค้านของกลุ่มนักเคลื่อนไหวเหล่านี้บางครั้งก็ไม่ยอมรับฟังเหตุผลแม้ชาวบ้านในพื้นที่จะไม่มีปัญหาแต่คนนอกพื้นที่ก็เข้าไปสร้างปัญหาให้เกิดขึ้น จนในที่สุดผลการศึกษาออกมาในเชิงนโยบาย มีทั้งสิ้น 14 ด้าน เช่น การเสนอให้มีการตรวจสอบแหล่งเงินทุนของ เอ็นจีโอ ที่ออกมาเคลื่อนไหว เพื่อที่ต้องการให้ เอ็นจีโอ มีธรรมาภิบาลเปิดเผยข้อมูลของเอ็นจีโอให้โปร่งใสด้วย

ในส่วนของ เอ็นจีโอต่างชาติ ที่ให้ประเทศไทยในการเคลื่อนไหวนั้น มีข้อเสนอให้ ยกเลิกวีซ่า หากพิสูจน์ได้ว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย และก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศไทย ในขณะเดียวกันให้อำนาจรัฐที่จะเพิกถอนตัดสิทธิสกัดกั้นแหล่งเงินสนับสนุนจากต่างประเทศได้ด้วย

นอกจากนี้ มีข้อเสนอให้วางระเบียบ ห้ามไม่ให้แต่งตั้งบุคคลที่เคยถูกคดีอาญา คดีการเผยแพร่ข้อมูลเป็นเท็จทางคอมพิวเตอร์ หรือทำลายทรัพย์สินราชการ เข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรตรวจสอบภาครัฐ ป้องกันกลุ่มบุคคลที่จะมาใช้บิดเบือนข้อมูลให้ร้ายภาครัฐเพื่อให้ประชาชนหรือสังคมเข้าใจผิด และสร้างราคาให้กับเอ็นจีโอในการที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งต่างๆ เช่น กรรมการในบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เป็นต้น

ในต่างประเทศ อินเดีย มีการถอนใบอนุญาตเอ็นจีโอ ที่รับเงินต่างชาติถึง 2 หมื่นกว่าองค์กร เนื่องจากเป็นภัยคุกคามประเทศและทำลายเศรษฐกิจของประเทศด้วยการเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการพัฒนาประเทศ หรือใน จีน มีการออกกฎหมายกำหนดให้เอ็นจีโอต้องเปิดเผยแหล่งที่มาของเงินทุนการใช้เงินเหล่านี้ในกิจกรรมใดบ้างและสมควรกระทำได้หรือไม่ กัมพูชา กำหนดให้เอ็นจีโอต้องยื่นรายงานเกี่ยวกับที่มาที่ไปทางการเงินเพื่อความโปร่งใส

ดังนั้น เอ็นจีโอเมืองไทยก็ควรจะโปร่งใสและตรวจสอบได้เช่นกัน.

ที่มา : หมัดเหล็ก mudlek@thairath.co.th


17/8/60

กระทรวงพลังงานยืนยัน โครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัม จะไม่กระทบอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft

กระทรวงพลังงานแจง ค่าไฟจากโครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัมจะไม่สูงเกินจริง


สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

กระทรวงพลังงานระบุโครงการไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัมเป็นความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และช่วยเสริมระบบบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออก รองรับโครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นโครงการบูรณาการระหว่าง 3 กระทรวง คือ กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มั่นใจไม่กระทบค่าไฟประชาชน

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวโครงการไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัม ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะต้องรับซื้อไฟฟ้าในราคาที่สูง จะไม่คุ้มค่าในการร่วมลงทุนนั้น ขอเรียนข้อเท็จจริงว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการทำงานในลักษณะบูรณาการระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะใช้ทางเลือกใดที่คุ้มค่าการลงทุนและเป็นประโยชน์ต่อ 2 ประเทศอย่างแท้จริง โดยอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังน้ำสตึงมนัม เมื่อรวมกับการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ อาจจะสูงกว่ากรณีผลิตไฟฟ้าแต่เพียงอย่างเดียว โดยกระทรวงพลังงานจะพิจารณาราคารับซื้อให้คุ้มค่า และจะไม่สูงเกินไป เนื่องจากส่วนหนึ่งเพราะเป็นโครงการขนาดเล็กไม่เกิน 30 เมกะวัตต์ ซึ่งเมื่อพิจารณาต้นทุนดังกล่าวกระทรวงพลังงานขอยืนยันว่า จะไม่กระทบอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft

นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาในประเด็นอื่น ๆ ร่วมกับผู้พัฒนาโครงการ เช่น สัดส่วนการลงทุน มูลค่าของโครงการเพิ่มเติมด้วย ในส่วนขั้นตอนการผันน้ำเข้ามาใช้ประโยชน์นั้น จะมีกรมทรัพยากรน้ำเป็นเจ้าภาพหลักในการกำหนดแนวทางเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำ และกรมชลประทานจะเข้ามาร่วมพิจารณาในรายละเอียดความเหมาะสมของเส้นทางการผันน้ำ การใช้เครือข่ายคลองและระบบส่งน้ำต่าง ๆ เพื่อรองรับการใช้ในช่วงที่ขาดแคลนในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมและภาคการผลิตที่สำคัญของประเทศ โครงการ ฯ ดังกล่าวถึงแม้จะช่วยเสริมความมั่นคงทางด้านไฟฟ้าไม่มากนัก แต่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมาก

โดยเบื้องต้น กระทรวงพลังงานจะได้นำเสนอรายละเอียดต่างๆ เพื่อให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติหรือ กพช. พิจารณาตามรายละเอียดตามข้อตกลงบันทึกความเข้าใจโครงการพลังน้ำสตึงมนัม ซึ่งถือเป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับกัมพูชาเป็นโครงการแรกนับตั้งแต่ได้มีการลงนามข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) มาก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ ประเด็นการเจรจาซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหินเกาะกง กระทรวงพลังงานขอยืนยันว่ายังไม่มีการดำเนินการใดๆ และอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด ว่ามีความจำเป็นจะนำมาใช้ประโยชน์การเพิ่มความมั่นคงการผลิตไฟฟ้าในจำนวนเท่าใด และราคาค่าไฟฟ้าจะเกิดประโยชน์ต่อราคาค่าไฟฟ้าของประเทศหรือไม่อย่างไร ซึ่งในหลักการกระทรวงพลังงานมีการเจรจาโครงการต่างๆ กับทั้งประเทศเมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชาอยู่แล้ว แต่ในการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ กระทรวงพลังงานจะพิจารณาถึงเรื่องสัดส่วนประเภทเชื้อเพลิงที่ใช้ และราคาค่าไฟที่จะไม่กระทบประชาชน

ที่มา : http://www.ryt9.com/s/prg/2696038

11/8/60

กฟผ. ขับเคลื่อนแผนพัฒนาพลังงาน โครงการพลังงานแสงอาทิตย์

กฟผ. ขับเคลื่อนแผนพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างเป็นรูปธรรม ชูโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งแบบติดตั้งบนดินและทุ่นลอยน้ำในพื้นที่เดิมของ กฟผ. ชี้มีศักยภาพดำเนินการได้ในราคาไม่สูงกว่าเอกชน


นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี โฆษก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงการพัฒนาพลังงานทดแทนของ กฟผ. ว่า ตามที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่มีอยู่ในประเทศอย่างเต็มศักยภาพ ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม และเพื่อผลประโยชน์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของชุมชน กฟผ. จึงได้จัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทน ปี 2558-2568 สอดรับกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 - 2579 (AEDP 2015) ที่ผลักดันให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนในทุกภาคส่วนของประเทศให้ถึงร้อยละ 30 ของการใช้พลังงานรวม (ในรูปแบบไฟฟ้า 4.27%, ความร้อน 19.15%, เชื้อเพลิงชีวภาพ 6.65%) ภายในปี 2579

          โฆษก กฟผ. กล่าวต่อไปว่า กฟผ. มีโครงการพลังงานหมุนเวียนในแผน AEDP ทั้งสิ้นประมาณ 500 เมกะวัตต์ ในระยะแรกจะทยอยผลิตไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2561 - 2564 จำนวน 7 โครงการ รวมกำลังผลิตทั้งหมด 32 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ได้แก่ โครงการเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ 4 โครงการ ที่อ่างเก็บน้ำบางปูดำ ในเขตพื้นที่โรงไฟฟ้ากระบี่ จ.กระบี่ อ่างเก็บน้ำห้วยเป็ดและอ่างเก็บน้ำห้วยทราย อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง และอ่างเก็บน้ำโรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และโครงการเซลล์แสงอาทิตย์บนพื้นดิน 3 โครงการ ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงมุกดาหาร 2 จ.มุกดาหาร ที่ กฟผ. แม่เมาะ จ.ลำปาง และที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงจอมบึง จ.ราชบุรี โดยสำหรับโครงการที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงจอมบึง จะมีการติดตั้งพร้อมแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System)

ภาพตัวอย่างแผง Solar Cell ลอยน้ำ จากต่างประเทศ


 “กฟผ. เลือกใช้เซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคอนที่มีประสิทธิภาพสูง 14-16% เนื่องจากเซลล์ชนิดนี้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน มีอัตราการเสื่อมสภาพต่อปีต่ำ ใช้พื้นที่ติดตั้งน้อย นอกจากนี้ ยังติดตั้งอยู่ในอ่างเก็บน้ำและบนพื้นดินซึ่งเป็นพื้นที่ของ กฟผ. ทั้งหมด จึงนับได้ว่าเป็นการบริหารการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ทำให้มีต้นทุนการผลิตไม่สูงกว่าอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินของเอกชน ทั้งนี้ ในส่วนของโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ จะช่วยให้เกิดการต่อยอดจากงานโครงการวิจัยขนาดเล็กไปสู่การพัฒนาเป็นโครงการขนาดใหญ่อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย”

ภาพตัวอย่างโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนดิน (ผาบ่อง จ.แม่ฮ่องสอน)


โครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ของ กฟผ. 7 โครงการที่จะเข้าระบบภายในปี 2564 นี้ ตลอดอายุโครงการ 25 ปี จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมได้ประมาณ 75,000 ตัน ตามอนุสัญญา COP21 และสามารถทดแทนน้ำมันเตาได้ 370 ล้านลิตร หรือคิดเป็นเงินประมาณ 3,750 ล้านบาท และยังสามารถลดปริมาณการระเหยของน้ำได้ประมาณ 40% สำหรับโครงการที่อ่างเก็บน้ำโรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา นอกจากนี้ จะสามารถพัฒนาต่อยอดสู่งานวิจัยระบบกักเก็บพลังงานแบบต่าง ๆ เช่น ระบบกักเก็บไฮโดรเจน (Hydrogen Storage) ให้กับเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) หรือ เครื่องยนต์ก๊าซไฮโดรเจน (Hydrogen Gas Engine) รวมถึงสามารถใช้เป็นแหล่งศึกษาด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไปในอนาคต

แหล่งที่มา : www.egat.co.th




9/8/60

มีข่าวดีมาบอก ร่างพรบ.พัฒนารัฐวิสาหกิจฯ ผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว

ข่าวดีเรื่องความคืบหน้าการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจไทย


คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติร่างพรบ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ (พรบ.พัฒนารัฐวิสาหกิจฯ) ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจไทย เพื่อให้เกิดการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มคุณภาพการบริการสาธารณะ และเพิ่มความโปร่งใสให้ภาครัฐ

พรบ. พัฒนารัฐวิสาหกิจจะครอบคลุมการปฏิรูปหลักใน 6 ด้าน ได้แก่

1) จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเป็นกรรมการภายใต้กฎหมาย เพื่อกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจดำเนินการร่วมกันไปในทิศทางเดียวกัน 
2) จัดทำแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจให้ชัดเจนเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 
3) นำระบบธรรมาภิบาลที่ดีมาใช้ในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ 
4) มีกระบวนการคัดเลือกกรรมการที่โปร่งใสให้ได้คนดีคนเก่งมาเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ 
5) จัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ผู้ถือหุ้นเชิงรุกให้รัฐวิสาหกิจทำหน้าที่ได้เต็มศักยภาพ 
6) จัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ผู้ถือหุ้นเชิงรุกให้รัฐวิสาหกิจทำหน้าที่ได้เต็มศักยภาพ

พรบ. พัฒนารัฐวิสาหกิจนี้ ถือเป็นหนึ่งในการปฏิรูปที่สำคัญของประเทศ ... ฝากช่วยกันสนับสนุน พรบ.นี้ด้วย



ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง

8/8/60

กลุ่ม ปตท.มอบเงินสนับสนุนภาครัฐ 20 ล้านบาท รวมพลังช่วยผู้ประสบภัยภาคอีสาน

เร่งมอบถุงยังชีพเพิ่มเติมต่อเนื่อง ส่ง PTTGroup SEALs ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมจัดแผนบรรเทาความเดือดร้อนสองระยะ ทั้งระยะเร่งด่วน และระยะฟื้นฟู


เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2560 นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่ม ปตท. มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์อุทกภัย ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนหลายพื้นที่ โดยจัดตั้งโครงการ “กลุ่ม ปตท. รวมพลังช่วยผู้ประสบภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” สนับสนุนเงินช่วยเหลือ จำนวน 20 ล้านบาท ผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี ในรายการ “ประชารัฐร่วมใจ ใต้ร่มพระบารมี” โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับมอบ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท. มีแผนดำเนินการช่วยเหลือแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน และระยะฟื้นฟูโดยระยะเร่งด่วน ปตท. ได้สนับสนุนน้ำมันสำหรับกิจการของโรงพยาบาลในพื้นที่ประสบภัย เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่กระทบกับผู้ใช้บริการ รวมทั้งสนับสนุนเวชภัณฑ์สำหรับการรักษาพยาบาล จำนวน 5,000 ชุด นอกจากนี้ ยังได้ช่วยสนับสนุนสิ่งของที่จำเป็นต่างๆ อาทิ ขวดน้ำดื่ม ถังก๊าซหุงต้ม ถุงยังชีพผ่านปลัดจังหวัดสกลนคร จำนวน 1,000 ชุด ทันทีที่เกิดอุทกภัย ขณะเดียวกัน พนักงานกลุ่ม ปตท. ในนาม ’ชมรมพลังไทย ใจอาสา’ ทั้งในพื้นที่ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคได้ร่วมแรงร่วมใจบรรจุถุงยังชีพเพิ่มเติม เพื่อแจกจ่ายอีกกว่า 5,000 ชุด รวมทั้งพนักงานกลุ่ม ปตท. ในชื่อ PTT Group SEALs ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีและต่อเนื่อง ขณะที่แผนระยะฟื้นฟูหลังน้ำลด จะมีการตั้งหน่วยฟื้นฟูกลุ่ม ปตท. ประกอบด้วย หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หน่วยซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า และซ่อมจักรยานยนต์ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย บรรเทาความเสียหายของทรัพย์สินให้แก่ประชาชน

“ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ ปตท. ได้ดำเนินการจัดส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างเร่งด่วนให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลน และขอขอบคุณผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการน้ำมันในพื้นที่ประสบภัย และพื้นที่ใกล้เคียง ที่สนับสนุนให้สถานีบริการน้ำมันเป็นที่พักพิงชั่วคราวให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา กลุ่ม ปตท. ได้ให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนจากสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง รวมกว่า 50 ล้านบาท และขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้พี่น้องประชาชนร่วมก้าวผ่านวิกฤติภัยพิบัติครั้งนี้ไปได้” นายเทวินทร์ กล่าว

ที่มา : www.thairath.co.th

2/8/60

ประกาศลอยตัวก๊าซ LPG วันแรก ยันไม่กระทบค่าครองชีพ "ผู้ค้า-ประชาชน" หนุนเปิดค้าเสรี

วันนี้ (1 ส.ค.60) เป็นวันแรกที่ประกาศให้ลอยตัวราคาก๊าซ LPG โดย ราคาไม่เปลี่ยนแปลง ยังอยู่ที่ 20 บาท 49 สตางค์ต่อกิโลกรัม ด้านผู้ค้าและผู้บริโภค ต่างเห็นด้วยกับแนวทางการค้าเสรี เพราะนอกจากสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ยังเปิดโอกาสให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่


1 สิงหาคม 2560 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่เปิดเสรีการค้าก๊าซ แอลพีจี โดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. เห็นชอบให้ ลอยตัวราคาก๊าซ LPG เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและเป็นไปตามกลไกตลาดโลก เหมือนกับน้ำมันและ ก๊าซ เอ็นจีวี 

ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ ก๊าซ แอลพีจี ในตลาดโลกปรับตัวลดลง จึงทำให้ภาครัฐเล็งเห็นโอกาสที่เหมาะสมในการเปิดเสรีธุรกิจ แอลพีจี ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ในธุรกิจนี้ นอกจากเกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมด้านราคาแล้ว ยังช่วยยกระดับคุณภาพการบริการ ซึ่งจะส่งผลดีต่ผู้บริโภค

นายชิษณุพงศ์ รุ่งโรจน์งามเจริญ นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว กล่าวกับทีมข่าว TNN ช่อง 16 ว่า การลอยตัวราคาก๊าซ แอลพีจี ในห้วงเวลานี้เป็นช่วงที่เหมาะสมเพราะราคาก๊าซ แอลพีจี ในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งการเปิดเสรี ราคาจะขึ้นลงตามกลไกตลาดสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ขณะเดียวกันจะทำให้การแข่งขันใน

นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน ก๊าซ แอลพีจี มีผู้ใช้อยู่ 3 กลุ่มหลัก ทั้งภาคครัวเรือน อุตสาหกรรม และ ขนส่ง โดยเฉพาะภาคครัวเรือนที่มีผู้ใช้มากกว่า 22 ครัวเรือน ซึ่งเมื่อเปิดเสรีธุรกิจนี้ จะทำให้เกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่ และ ประชาชนมีทางเลือกเพิ่มขึ้น นอกจากผู้ค้าเจ้าเดิม แต่ภาครัฐต้องปรับหลักเกณฑ์เพื่อให้เอื้อต่อการลงทุนของผู้ค้ารายใหม่ด้วย

ด้านผู้บริโภค ต่าง บอกเป็นเสียงเดียวกัน ว่า เห็นด้วยกับการที่ภาครัฐปล่อยลอยตัวราคา ก๊าซ แอลพีจี เพราะต้องการให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด 

ทั้งนี้ ข้อมูลของกรมธุรกิจพลังงาน ระบุ ภาพรวมการใช้ก๊าซ แอลพีจี ตั้งแต่เดือน มกราคม ถึง เดือน มิถุนายน 2560 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 หรือคิดเป็นปริมาณกว่า 501,000 ตันต่อเดือน โดยครัวเรือนใช้ก๊าซ แอลพีจี มากที่สุด รองลงมาเป็นภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ภาคขนส่ง และ ภาคอุตสาหกรรม 

โดยตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2560 จะไม่มีการกำหนดราคาขายปลีก LPG ทั้งหมดทั้งหน้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน โรงอะโรเมติก และโรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้า (Import Parity) พร้อมกับยกเลิกการส่งเงินเข้าหรือชดเชยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากทุกส่วนการผลิต และยกเลิกการประกาศราคาขายส่ง เพื่อให้ตลาดก๊าซ LPG มีการแข่งขันสมบูรณ์ขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการรองรับการนำเข้าก๊าซที่จะมากขึ้นในอนาคต เพราะแหล่งการผลิตในประเทศมีแนวโน้มจะลดลง


ด้านรองอธิบดีกรมการค้าภายใน ประกาศลอยตัวก๊าซ LPG ยันไม่กระทบค่าครองชีพ “ผู้ค้า-ประชาชน” หนุนค้าเสรี


นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ได้เริ่มประกาศลอยตัวราคาขายก๊าซหุงต้ม หรือ LPG ตามตลาดโลก ตั้งแต่เมื่อวานนี้ และมั่นใจว่าจะไม่กระทบค่าครองชีพประชาชน เนื่องจากมี "กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง" ช่วยอุดหนุนส่วนต่าง และกรมการค้าภายใน ยังมีการประกาศราคาแนะนำขายปลีก รวมทั้งจะมีการกำหนดราคาเพดานที่เหมาะสม หากราคาขายปลีกในตลาดโลกปรับขึ้นสูงมาก
ทั้งนี้ปัจจุบันราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำ จึงไม่มีผลกระทบต่อราคาอาหารปรุงสำเร็จ และไม่มีเหตุผลที่ร้านค้าหรือผู้ประกอบการใช้เป็นข้ออ้างในการปรับขึ้นราคา ขณะเดียวกันกระทรวงพลังงานยังมีมาตรการ ดูแลผู้มีรายได้น้อย และร้านค้า โดยมีส่วนลดการซื้อก๊าซหุงต้ม ซึ่งหากพบร้านค้าฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาโดยไม่มีเหตุผลสามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1569

โดยขณะนี้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG อยู่ที่กิโลกรัมละ 20.49 บาท กรมการค้าภายใน ได้ประกาศราคาแนะนำขายปลีกก๊าซหุงต้มบรรจุถังขนาด 15 กิโลกรัม ในเขตกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ จำหน่ายปลีกในราคาไม่เกินถังละ 343 บาท รวมค่าบริการขนส่งถึงสถานที่ของผู้ซื้อ ระยะทางไม่เกิน 5 กิโลเมตร แต่ไม่รวมค่าบริการขนส่งขึ้นบนอาคารสูง

ด้าน นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าขณะนี้กำลังติดตามผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรม แต่การประกาศลอยตัวในช่วงนี้ ถือว่าเป็นช่วงที่เหมาะสม เพราะราคาตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ และภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่รับได้ ทำให้การใช้งานในระยะยาวมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่มา : http://www.tnnthailand.com และ http://news.ch7.com

1/8/60

ปตท. เร่งระดมกำลังช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคอีสาน

วันนี้ (30 กรกฎาคม 2560) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) โดยการประสานความร่วมมือกับ กระทรวงพลังงาน ได้เร่งระดมความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคอีสานตอนบนโดยเฉพาะ จังหวัดสกลนคร โดยเตรียมความพร้อมสนับสนุนน้ำมันสำหรับกิจการของโรงพยาบาลในพื้นที่ประสบภัยเพื่อให้ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่กระทบกับผู้ใช้บริการ


นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมันปตท.ได้สั่งการให้คลังน้ำมัน ปตท. และ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ในพื้นที่ประสบภัยและพื้นที่ใกล้เคียง เตรียมความพร้อมในการจัดเตรียมน้ำมันให้เพียงพอกับความต้องการในพื้นที่ ไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลน  รวมถึงให้สถานีบริการน้ำมัน ปตท. เป็นที่พักพิงชั่วคราวให้กับผู้ประสบภัยอีกด้วย

ขณะเดียวกัน ปตท. ได้มอบถุงยังชีพจำนวนประมาณ 1,000 ชุด ผ่านสำนักงานจังหวัดสกลนครเพื่อทยอยส่งมอบความช่วยเหลือไปยังพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยในพื้นที่  และยังได้ระดมพล “พลังไทยใจอาสา” กลุ่ม ปตท.  เร่งบรรจุถุงยังชีพเพื่อส่งมอบความช่วยเหลือไปยังผู้ประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ที่มา : www.khaosod.co.th