นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี โฆษก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงการพัฒนาพลังงานทดแทนของ กฟผ. ว่า ตามที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่มีอยู่ในประเทศอย่างเต็มศักยภาพ ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม และเพื่อผลประโยชน์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของชุมชน กฟผ. จึงได้จัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทน ปี 2558-2568 สอดรับกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 - 2579 (AEDP 2015) ที่ผลักดันให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนในทุกภาคส่วนของประเทศให้ถึงร้อยละ 30 ของการใช้พลังงานรวม (ในรูปแบบไฟฟ้า 4.27%, ความร้อน 19.15%, เชื้อเพลิงชีวภาพ 6.65%) ภายในปี 2579
โฆษก กฟผ. กล่าวต่อไปว่า กฟผ. มีโครงการพลังงานหมุนเวียนในแผน AEDP ทั้งสิ้นประมาณ 500 เมกะวัตต์ ในระยะแรกจะทยอยผลิตไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2561 - 2564 จำนวน 7 โครงการ รวมกำลังผลิตทั้งหมด 32 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ได้แก่ โครงการเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ 4 โครงการ ที่อ่างเก็บน้ำบางปูดำ ในเขตพื้นที่โรงไฟฟ้ากระบี่ จ.กระบี่ อ่างเก็บน้ำห้วยเป็ดและอ่างเก็บน้ำห้วยทราย อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง และอ่างเก็บน้ำโรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และโครงการเซลล์แสงอาทิตย์บนพื้นดิน 3 โครงการ ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงมุกดาหาร 2 จ.มุกดาหาร ที่ กฟผ. แม่เมาะ จ.ลำปาง และที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงจอมบึง จ.ราชบุรี โดยสำหรับโครงการที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงจอมบึง จะมีการติดตั้งพร้อมแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System)
ภาพตัวอย่างแผง Solar Cell ลอยน้ำ จากต่างประเทศ
“กฟผ. เลือกใช้เซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคอนที่มีประสิทธิภาพสูง 14-16% เนื่องจากเซลล์ชนิดนี้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน มีอัตราการเสื่อมสภาพต่อปีต่ำ ใช้พื้นที่ติดตั้งน้อย นอกจากนี้ ยังติดตั้งอยู่ในอ่างเก็บน้ำและบนพื้นดินซึ่งเป็นพื้นที่ของ กฟผ. ทั้งหมด จึงนับได้ว่าเป็นการบริหารการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ทำให้มีต้นทุนการผลิตไม่สูงกว่าอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินของเอกชน ทั้งนี้ ในส่วนของโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ จะช่วยให้เกิดการต่อยอดจากงานโครงการวิจัยขนาดเล็กไปสู่การพัฒนาเป็นโครงการขนาดใหญ่อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย”
ภาพตัวอย่างโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนดิน (ผาบ่อง จ.แม่ฮ่องสอน)
โครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ของ กฟผ. 7 โครงการที่จะเข้าระบบภายในปี 2564 นี้ ตลอดอายุโครงการ 25 ปี จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมได้ประมาณ 75,000 ตัน ตามอนุสัญญา COP21 และสามารถทดแทนน้ำมันเตาได้ 370 ล้านลิตร หรือคิดเป็นเงินประมาณ 3,750 ล้านบาท และยังสามารถลดปริมาณการระเหยของน้ำได้ประมาณ 40% สำหรับโครงการที่อ่างเก็บน้ำโรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา นอกจากนี้ จะสามารถพัฒนาต่อยอดสู่งานวิจัยระบบกักเก็บพลังงานแบบต่าง ๆ เช่น ระบบกักเก็บไฮโดรเจน (Hydrogen Storage) ให้กับเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) หรือ เครื่องยนต์ก๊าซไฮโดรเจน (Hydrogen Gas Engine) รวมถึงสามารถใช้เป็นแหล่งศึกษาด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไปในอนาคต
แหล่งที่มา : www.egat.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น