21/2/61

ผลการดำเนินงาน ปตท. 2560 มุ่งพัฒนาธุรกิจแบบมีส่วนร่วมสู่ความยั่งยืน

ผลการดำเนินงาน ปตท. 2560 มุ่งพัฒนาธุรกิจแบบมีส่วนร่วมสู่ความยั่งยืน



นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยผลประกอบการของ ปตท. ปี 2560 มีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 1.559 ล้านล้านบาท มีกำไรจากการดำเนินงาน 74,552 ล้านบาท และเมื่อรับรู้ผลกำไรของบริษัทในกลุ่มตามสัดส่วนการถือหุ้นอีก 60,628 ล้านบาท ทำให้งบการเงินรวมของ ปตท. และบริษัทย่อยมีรายได้รวม 1.996 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 16.1) และมีกำไรสุทธิรวม 135,180 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 42.9) คิดเป็นกำไร 46.74 บาทต่อหุ้น

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลการดำเนินงานของ ปตท. และบริษัทในกลุ่มดีขึ้น ได้แก่
• ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น น้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 41.3 เป็น 53.2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.8)
• ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันและปิโตรเคมีเพิ่มขึ้น จากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น
• เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน (productivity improvement) สร้างกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) สูงถึง 3.0 หมื่นล้านบาท ทั้งการเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายดำเนินการและค่าใช้จ่ายลงทุน
• รับเงินปันผลและกำไรจากการจำหน่ายหน่วยลงทุนได้แก่ หน่วยลงทุนในกองทุนดัชนีพลังงานและปิโตรเคมี (EPIF) และหุ้น SPRC รวม 6.8 พันล้านบาท
• เงินบาทแข็งค่าในช่วงปลายปี ทำให้มีกำไรทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน 1.37 หมื่นล้านบาท

ผลประกอบการที่ดีขึ้นจึงเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้นและการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทั้งกลุ่ม ปตท. ประสบผลสำเร็จ เห็นได้จากการเดินเครื่องของทุกหน่วยการผลิตสูงขึ้น โดยไม่มีการหยุดชะงักที่สำคัญ แม้ว่าค่าการตลาดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันจะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว และการบันทึกกำไรจากสต๊อกน้ำมันจะลดลงจากปีก่อน 9.1 พันล้านบาท โดย ปตท. จะเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อจ่ายเงินปันผลรวมสำหรับผลการดำเนินงานปี 2560 ในอัตรา 20 บาทต่อหุ้น ซึ่งกระทรวงการคลังที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และกองทุนวายุภักษ์จะได้รับเงินปันผลรวมประมาณ 3.67 หมื่นล้านบาท และเมื่อรวมกับภาษีเงินได้นิติบุคคลของ ปตท. และบริษัทในเครืออีกประมาณ 3.46 หมื่นล้านบาท รวมเป็นรายได้นำส่งรัฐจากกลุ่ม ปตท. สำหรับผลประกอบการปี 2560 รวมประมาณ 7.13 หมื่นล้านบาท

ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องใน 3 ปีที่ผ่านมา ปตท. ได้จัดทำแผนการลงทุน 5 ปี (2561-2565) ตามกลยุทธ์ Do now (แผนระยะสั้นเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน) Decide Now (แผนระยะกลางเพื่อการเติบโต) Design Now (แผนระยะยาวเพื่อสร้าง New S-Curve) ในวงเงิน 3.4 แสนล้านบาท ครอบคลุมการขยายโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ได้แก่ ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 5 คลังรับก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) การปรับโครงสร้างธุรกิจค้าปลีก การขยายธุรกิจไปต่างประเทศ รวมทั้งการศึกษาธุรกิจใหม่ที่จะเป็น New S-Curve ในอนาคต อาทิ โครงการ Ethane Extraction โครงการความร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม และ Electricity Value Chain ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ EEC ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยได้เตรียมงบประมาณสำรองในส่วนนี้เพิ่มอีกประมาณ 2.4 แสนล้านบาท

ภายใต้หลักการดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตในระยะยาว ปตท. ยังมุ่งเน้นการทำธุรกิจแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Business) และดำเนินกิจการเพื่อสังคมอย่างจริงจังต่อเนื่อง โดยมีโครงการหลักที่ได้ดำเนินการ ได้แก่
• การจัดพื้นที่จำหน่ายสินค้าและผลผลิตทางการเกษตร อาทิ ข้าว ผลิตภัณฑ์จากยางพารา ณ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. และพัฒนาไปสู่ศูนย์สินค้า Roadside Station ในพื้นที่ท่องเที่ยว
• การพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ ชุมชน อนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่คุ้ง บางกะเจ้า
• การสนับสนุนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ให้เป็นสถาบันการศึกษาและวิจัยชั้นนำของภูมิภาค
• การสนับสนุนการกีฬาและนักกีฬาไทย ให้สร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้กับประเทศไทย
• การจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่เชื่อมโยงการพัฒนาสังคมกับการดำเนินธุรกิจด้านต่างๆ ของกลุ่ม ปตท. อาทิ ร้านกาแฟอเมซอนของผู้พิการ
นอกจากนี้ ปตท. อยู่ระหว่างศึกษาการใช้ประโยชน์ความเย็นจากคลังรับ LNG เพื่อทำห้องเย็นสำหรับผลไม้ที่จังหวัดระยองอีกด้วย

“ปตท. จะมุ่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพื่อขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ พร้อมนำรายได้มาลงทุนโครงข่ายพลังงานและการสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งให้ประเทศ ขยายลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่ EEC รองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยการลงทุนร่วมกับพันธมิตรและผู้ประกอบการรายย่อยที่จะเติบโตไปพร้อมกับ ปตท. ควบคู่กับการขยายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การดำเนินธุรกิจที่ยึดหลักธรรมาภิบาล การกำกับดูแลกิจการที่ดี การทำงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อสร้างชื่อเสียงของแบรนด์ ปตท. ให้เป็นที่ยอมรับในสากลและเป็นสมบัติของชาติที่คนไทยภาคภูมิใจต่อไป” นายเทวินทร์ กล่าว

---------------------------------------------------

แหล่งที่มา : ฝ่ายสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

7/2/61

กฟผ.ผนึก ปตท. ลุยโรงไฟฟ้าก๊าซ จัดพิธีบันทึกความร่วมมือด้านพลังงาน

กฟผ.เล็งร่วมมือ ปตท. ลุยโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ หากรัฐบาลเปิดแข่งขันเสรี ชี้ที่ผ่านมา กฟผ. ยังติด พ.ร.บ.กฟผ. ไม่คล่องตัว


นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ในอนาคต กฟผ. อาจร่วมมือกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้วยกัน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในอนาคต หากรัฐบาลเปิดให้มีกฟผ. แข่งขันกับภาคเอกชนอย่างเสรี โดย ปตท.มีศักยภาพในการจัดหาก๊าซธรรมชาติ(แอลเอ็นจี) ขณะที่ กฟผ. มีพื้นที่สำหรับก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซเช่นกัน ความร่วมมือจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องรอแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ฉบับใหม่แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้

“กฟผ. ได้หารือกับทาง ปตท.เพื่อร่วมมือโครงการในอนาคต โดยเฉพาะด้านนวัตกรรมที่ ปตท.มีความเชี่ยวชาญ เนื่องจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ กฟผ.ต้องการนำนวัตกรรมมาใช้

ในองค์กรมากขึ้น ซึ่งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ กฟผ.จะลงนามเอ็มโอยูกับ ปตท. ในการร่วมมือโครงการต่างๆในอนาคต เบื้องต้น กฟผ. จะส่งบุคลากรเข้าไปเรียนรู้ด้านการจัดหา สั่งซื้อก๊าซแอลเอ็นจีจากทาง ปตท. เพราะ กฟผ. ยังไม่มีประสบการณ์ดังกล่าว”

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เผยว่า ปตท.มีแผนขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ ซึ่ง กฟผ. มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตไฟฟ้า ดังนั้นในอนาคตจะมีความร่วมมือกันโดยศึกษาตั้งแต่ธุรกิจก๊าซแอลเอ็นจีไปจนถึงโรงไฟฟ้า โดยยืนยันว่า ปตท.ไม่ได้ถูกลดบทบาทในการรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน แต่ในทางกลับกันเป็นการเพิ่มบทบาท โดย ปตท. เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และโครงการลงทุนในอีอีซี

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลไม่ได้มีนโยบายลดบทบาทปตท. และ กฟผ. ซึ่งรัฐบาลยังมอบหมายให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 องค์กรเป็นผู้ที่มีความสำคัญในการรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่สำคัญต่อความมั่นคง ซึ่งได้แก่ ท่อส่งก๊าซ สายส่งไฟฟ้า รวมทั้งสถานีแอลเอ็นจี และโรงไฟฟ้าหลัก ซึ่งจะยังคงอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 หน่วยงาน

ปตท. จัดพิธีบันทึกความร่วมมือด้านพลังงาน ระหว่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ตามที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้กำหนดจัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือด้านพลังงาน ระหว่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในวันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 14:00 น. – 16:00 น. ณ ห้องประชุมใหญ่ชั้น 2 อาคาร 3 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ โดยมี ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมพิธีฯ นั้น

ที่มา : จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,333 วันที่ 21 - 24 มกราคม พ.ศ. 2561 และ http://www.ryt9.com/s/prg/2774388