23/6/60

ปตท.รับซื้อน้ำมันไบโอดีเซล (B100) เพิ่มอีก 23 ล้านลิตร ช่วยเกษตรกรสวนปาล์มช่วงราคาตกต่ำ

ปตท.รับซื้อน้ำมันไบโอดีเซล (B100) เพิ่มอีก 23 ล้านลิตร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรสวนปาล์มช่วงราคาตกต่ำ สนองนโยบายของกระทรวงพลังงาน โดยรับซื้อน้ำมันไบโอดีเซล (B100) ปริมาณ 23 ล้านลิตร หรือเทียบเท่าปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ 20,000 ตัน เป็นการซื้อเพิ่มเติมจากยอดจัดซื้อเดิม ช่วยพยุงระดับราคาปาล์มน้ำมันให้สูงขึ้นในช่วงน้ำมันปาล์มล้นตลาด และส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น




นายสรัญ รังคสิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. ตระหนักถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนปาล์มที่ประสบปัญหาราคาน้ำมันปาล์มในประเทศตกต่ำ อันเนื่องมาจากปริมาณผลผลิตล้นตลาด จึงเริ่มดำเนินการจัดซื้อน้ำมันไบโอดีเซล (B100) ซึ่งผลิตจากน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มเติมจากยอดจัดซื้อปกติซึ่งอยู่ที่ประมาณ 40 ล้านลิตรต่อเดือน หรือเทียบเท่าปริมาณน้ำมันปาล์มดิบกว่า 40,000 ตันต่อเดือน โดยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา ปตท.จัดซื้อน้ำมันไบโอดีเซลเพิ่มเติม เทียบเท่าปริมาณน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 9,000 ตัน และปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้อน้ำมันไบโอดีเซลเพิ่มเติมอีก 2,000 ตัน ก่อนจะทยอยซื้อให้ครบ 20,000 ตันตามเป้าที่วางไว้โดยเร็วที่สุด เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนปาล์ม และสนองนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ต้องการให้ผู้ค้าน้ำมันรับซื้อน้ำมันไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น

ปตท.ในฐานะผู้ค้าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (HSD) รายใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยปกติจะจัดซื้อน้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งผลิตจากน้ำมันปาล์มดิบจากบริษัทโกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. เพื่อนำมาผสมกับน้ำมันดีเซลพื้นฐาน ก่อนผลิตเป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (HSD) จำหน่ายแก่ผู้บริโภคต่อไป

"ปตท.ให้ความสำคัญกับการร่วมดูแลสังคมชุมชน ควบคู่กับการดูแลความความมั่นคงทางพลังงานของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ปตท. ร่วมสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรไทยในรูปแบบต่างๆ อาทิ การมอบส่วนลดน้ำมันลิตรละ 30 สตางค์ แก่เกษตรกรที่ชำระค่าน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดผ่านบัตรสินเชื่อเกษตรกรของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) การเปิดพื้นที่จำหน่ายข้าวสารโดยตรงจากมือชาวนาในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในช่วงราคาข้าวตกต่ำ เป็นต้น ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งภารกิจเพื่อดูแลสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อมของ ปตท. นอกเหนือจากภารกิจหลักในการจัดหาและสำรองพลังงานเพื่อความมั่นคงของประเทศ" นายสรัญกล่าว

ที่มา : prachachat.net

12/6/60

THAILAND 4.0 กลไกสำคัญสู่ ENERGY 4.0



ประเทศไทยในยุค 4.0

คือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เปลี่ยนการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม ขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม โดยเน้นภาคการผลิตสินค้า ภาคบริการภายในประเทศ เพื่อพึ่งพาตนเองให้มากขึ้น

บทบาทของภาคพลังงานในการขับเคลื่อน Thailand 4.0
สร้างนวัตกรรม สร้างรายได้สูง ส่งเสริมอุตสาหกรรมกลางน้ำเพื่อต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมมูลค่าสูง / ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ส่งเสริมปัจจัยการผลิตที่สำคัญในทุกภาคธุรกิจ

Energy 4.0 สอดรับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล

ภายใต้กรอบแผน 5 เสาหลัก คือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) แผนบริหารจัดการน้ำมัน (Oil Plan) โดยแบ่งการขับเคลื่อนเป็น 2 ระดับ คือ ระดับประเทศ และระดับชุมชน มุ่งสร้างรายได้ให้ประชาชนและประเทศให้พ้นกรอบประเทศรายได้ปานกลางสู่สังคมสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และต่อยอดธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานของประเทศให้เติบโต และก้าวหน้าในอนาคต

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ทำอะไรใน ENERGY 4.0

ได้มีการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับด้านพลังงานภายใต้การสนับสนุนขอกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อต่อยอดธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานของประเทศให้เติบโตในการกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลในอนาคต การบริหารจัดการพลังงานทดแทนให้มีความเสถียรจากการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน Energy Storage การเตรียมพร้อเพื่อรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicle : EV การพัฒนาในรูปแบบของ Smart ต่างๆ ทั้งในส่วนของ Smart Grid ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของ Smart Citie รวมถึงการศึกษามาตรการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กแบบผสมผสาน หรือ SPP - Hybrid เพิ่มเติมด้วย

ขอบคุณแหล่งที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)

9/6/60

ความตึงเตรียดตะวันออกกลางกับพลังงานไทย

ชาติอาหรับ 6 ประเทศประกอบด้วย ซาอุดีอะราเบีย บาห์เรน อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลิเบีย และเยเมน ประสานมือกันตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศกาตาร์ ที่เป็นผู้ส่งออก LNG รายใหญ่ของโลก ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในลูกค้าที่ซื้อ LNG จากกาตาร์ การตัดความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นหลังจากการเยือนโลกอาหรับของ ปธน.ทรัมป์ ด้วยอ้างว่า กาตาร์ให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายอิสลาม ซึ่งได้สร้างรอยร้าวลึกบาดหมางระหว่างชาติต่างๆ ในอ่าวอาหรับ




นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ได้โพสต์บทความผ่านช่องทางเฟซบุค หน้าเพจ Tevin at PTT  เกี่ยวกับความตึงเครียดในตะวันออกกลางกับพลังงานไทย โดยแสดงความรู้สึกวิตก ซึ่งมีสาระสำคัญของบทความ สรุปให้เข้าใจว่า สถานการณ์ที่โลกต้องจับตาอยู่ในช่วงนี้คือความขัดแย้งในตะวันออกกลางเมื่อวันจันทร์ที่5มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียและกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางอีกหลายประเทศ ประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูต ปิดพรมแดนทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศกับกาตาร์  โดยความขัดแย้งรอบนี้มีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก เนื่องจากตะวันออกกลางเป็นกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก

ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2014 แต่ในครั้งนั้นประเทศคูเวตเป็นคนกลางมาช่วยไกล่เกลี่ย ซึ่งใช้เวลาถึง 9 เดือน จึงกลับมาเป็นปกติ และไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตและขนส่งน้ำมันและ LNG  เพราะเป็นเพียงการตัดสัมพันธ์ทางการฑูตเท่านั้น และด้านราคาก็ไม่ได้รับผลกระทบเพราะเป็นช่วงราคาน้ำมันตกต่ำจากการผลิต Shale oil ของสหรัฐอเมริกาที่พุ่งสูงขึ้นจนทำให้อุปทานน้ำมันล้นตลาด

อย่างไรก็ตาม ในความขัดแย้งในครั้งนี้ บทความของนายเทวินทร์ ระบุถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ คือการขนส่ง เนื่องจากในการขนส่งน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางนั้น เรือขนส่งน้ำมันไม่ได้รับน้ำมันจากประเทศเดียว แต่ผู้ซื้อจะขนน้ำมันจากหลายประเทศลงเรือมาด้วยกัน ที่ เรียกว่า "Co-load" เช่น รับน้ำมันที่กาตาร์แล้วไปแวะรับที่ UAE(สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์) หรือรับจากซาอุดิอาระเบียแล้วต่อไปรับที่กาตาร์ ก่อนที่จะวิ่งผ่านช่องแคบ Hormuz ออกมาจากอ่าวเปอร์เซียเพื่อไปยังปลายทาง

นายเทวินทร์ ยังเขียนถึงทางออกที่ประเทศไทยในฐานะที่เป็นผู้นำเข้าทั้งน้ำมันดิบและ LNG  ควรจะต้องดำเนินการ คือการบริหารความเสี่ยงโดยกระจายการจัดหาแหล่งพลังงาน ไปยังภูมิภาคอื่นๆ จากปัจจุบัน ไทยนั้นซื้อน้ำมันส่วนใหญ่จากตะวันออกกลาง ซึ่งก็มีส่วนของกาตาร์อยู่บ้าง และมีสัญญาระยะยาวรับซื้อ LNG จากกาตาร์

โดยในส่วนของ LNG นั้น ทางกาตาร์ยังยืนยันว่าสามารถส่ง LNG ได้ตามสัญญา แต่เรื่องจากเรายังไม่รู้ว่าสถานการณ์จะลุกลามรุนแรงขึ้นหรือไม่ และเมื่อไหร่ ดังนั้น นายเทวนิทร์ จึงเสนอให้ ต้องเตรียมแผนสำรองที่จะจัดหาจากแหล่งอื่น หรือเก็บสำรองเพิ่มขึ้นด้วย โดยปัจจุบันเครือข่ายการจัดหาของ ปตท. ค่อนข้างมีความหลากหลายมากขึ้น  แม้จะยังพึ่งพาตะวันออกกลางอยู่มาก แต่ได้เริ่มพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศผู้ผลิตต่างๆ เช่น รัสเซีย ออสเตรเลีย อาเซียน ลาตินอเมริกา และอัฟริกา ซึ่งในปีนนี้ ก็เพิ่งมีการเซ็นสัญญาจัดซื้อ LNG ระยะยาว กับ เชลล์ บีพี และเปโตรนาส ทำให้พอจะมีช่องทางจัดหาปิโตรเลียมจากแหล่งอื่นทดแทนได้หากตะวันออกกลางมีปัญหา พร้อมทั้งยังกระตุ้นให้ทุกฝ่ายติดตามดูสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นดังกล่าว ที่อาจจะมีผลกระทบต่อการจัดหา ราคา และความมั่นคงทางพลังงานในประเทศของไทยได้


แหล่งที่มา : http://energynewscenter.com / Facebook : Tevin at PTT

1/6/60

เปิดทุกคำพิพากษา! ปตท. ส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติครบหรือไม่?

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา กลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย หรือ คปพ. ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3/2560 ประกาศจะดำเนินการอยู่ 3 เรื่อง โดยหนึ่งในนั้น คือ ดำเนินการเรื่องการส่งมอบท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ที่ คปพ. เห็นว่ายังส่งมอบไม่เสร็จสิ้น

เรื่องท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท. นับได้ว่าเป็นประเด็นร้อนแรงเรื่องหนึ่งของแวดวงพลังงานไทย เพราะถึงแม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาปิดฉากไปตั้งแต่ปี 2550 แต่ก็ยังมีการเคลื่อนไหวโดยบุคคลบางกลุ่มมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สังคมเกิดความสงสัยว่าศาลตัดสินไม่ชัดเจนหรืออย่างไร ถึงทำให้ประเด็นนี้ดำเนินมาได้ถึง 10 ปี



ดังนั้น เพื่อไม่ให้คำพิพากษาของศาลทำให้เกิดความเคลือบแคลงในสังคม ผู้เขียนจะขอเปิดสาระสำคัญของทุกคำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท. ทั้งหมด เพื่อให้ท่านผู้อ่านพิจารณาว่า คำพิพากษาของศาลในเรื่องนี้ ยุติหรือไม่ เพียงใด (อ่านข้อมูลพื้นฐานเรื่องการส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท.ได้ที่นี่)

1. ครั้งที่หนึ่ง: คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 (คดีแปรรูป ปตท.)

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2549 ได้มีผู้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการแปรรูป บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และให้กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยแบบเดิม ต่อมา ในวันที่ 14 ธันวาคม 2550 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา สรุปได้ดังนี้

ให้ยกคำฟ้องที่ขอให้เพิกถอนการแปรรูป บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ (คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ปตท.) ร่วมกันแบ่งแยกทรัพย์สินส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและสิทธิการใช้ที่ดินที่ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อกลับมาเป็นของรัฐ
2. ครั้งที่สอง: คำสั่งศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551

ภายหลังที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว หน่วยงานต่างๆ ก็ได้ดำเนินการแบ่งทรัพย์สินให้กับรัฐตามคำสั่งศาลเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี จนกระทั่งเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ศาลปกครองสูงสุดก็มีคำสั่งว่า “ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”

3. ครั้งที่สาม: คำสั่งศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552

ภายหลังที่ศาลมีคำสั่งครั้งที่สองแล้ว เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 ผู้ฟ้องคดีในคดีแปรรูป ปตท. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง ขอให้ศาลทำการไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินของ ปตท. ที่จะต้องแบ่งแยกคืนให้กระทรวงการคลัง โดยคำร้องได้อ้างรายงานของ สตง. ซึ่งมีความเห็นว่ามูลค่าทรัพย์สินของ ปตท. ยังส่งมอบไม่ครบตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

ปรากฏว่าในวันเดียวกันนั้นเอง ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยกคำร้องของผู้ฟ้องคดี โดยให้เหตุผลว่าผู้ฟ้องคดีมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ไม่มีสิทธิบังคับคดีอีกทั้ง ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

4. ครั้งที่สี่: หนังสือของสำนักงานศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 


หลังจากที่ศาลได้มีคำสั่งครั้งที่สามไม่นาน ต่อมา วันที่ 10 มีนาคม 2552 สำนักงานศาลปกครองก็ได้มีหนังสือไปถึง สตง. เพื่อตอบกลับความเห็นของ สตง. ว่า “…ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๔ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”

5. ครั้งที่ห้า: คำสั่งของศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2555

ภายหลังที่ศาลมีคำสั่งแล้วถึงสี่ครั้ง สามปีถัดมา คือ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2555 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กับพวกรวม 1,455 คน ได้ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปตท. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อศาลปกครองกลางอีกครั้ง โดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าร่วมกันดำเนินการแบ่งแยกระบบท่อก๊าซธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเลให้กลับมาเป็นของรัฐ และในคำฟ้องครั้งนี้ ผู้ฟ้องคดียังได้แนบหนังสือความเห็นของ สตง. ฉบับเดิมที่ศาลเคยตอบไว้แล้วในครั้งที่สี่ด้วย ศาลได้ใช้เวลาพิจารณาเรื่องนี้ประมาณ 17 วัน ต่อมา เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2555 ศาลปกครองกลาง จึงมีคำสั่งที่ไม่รับคำฟ้องเรื่องนี้ โดยให้เหตุผลว่า คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาแล้ว

6. ครั้งที่หก: คำสั่งของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2557

แม้ว่าศาลปกครองกลางจะไม่รับคำฟ้องเป็นครั้งที่ห้า แต่ผู้ฟ้องคดีก็ได้ทำการอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งต่อมา เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2557 ศาลปกครองสูงสุดก็มีคำสั่งยืนยันไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีตามศาลปกครองกลาง โดยให้เหตุผลว่า ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยเรื่องนี้ไปแล้ว

นอกจากนี้ ศาลปกครองสูงสุดยังวินิจฉัยด้วยว่า การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ปตท. รายงานต่อศาลปกครองสูงสุด โดยไม่มีการตรวจสอบและรับรองจาก สตง. นั้น เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันภายในหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของคณะรัฐมนตรี มิใช่เป็นเหตุที่กล่าวอ้างว่าเป็นการดำเนินการที่ยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมาย (การส่งมอบทรัพย์สิน ปตท. ให้กับรัฐ) ซึ่งเรื่องนี้ผมได้เคยเขียนไว้แล้ว (อ่านที่นี่)

7. ครั้งที่เจ็ด: คำสั่งศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559

ภายหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งครั้งที่หก ต่อมา เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ได้มีผู้ร้องไปยังศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งครั้งที่สอง (26 ธันวาคม 2551) ของตนเอง และขอให้ศาลพิจารณาความเห็นของ สตง. อีกครั้ง

ดังนั้น เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 ศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องฉบับนี้ เนื่องจากเป็นการขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือประเด็นที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว

8. ครั้งที่แปด: คำสั่งศาลปกครองสูงสุด กรณี ละเมิดอำนาจศาล เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ศาลปกครองสูงสุดยังได้มีคำสั่งถึงผู้ที่กระทำการละเมิดอำนาจศาล กรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินคดีของศาลปกครองสูงสุดเรื่องท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท. โดยในครั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้ยืนยันถึงความยุติธรรมและเป็นกลางของศาล ในการพิจารณาคดีนี้อย่างรอบคอบทุกครั้ง โดยเฉพาะคำสั่งศาลเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 (ครั้งที่สอง)




สรุป

เมื่อพิจารณาจากคำสั่งศาลปกครองที่เกี่ยวกับประเด็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ผู้เขียนมีความเห็นส่วนตัวว่า ไม่มีศาลใดในโลกจะมีความเป็นธรรมและให้โอกาสประชาชนเท่ากับศาลปกครองของประเทศไทย เพราะถึงแม้ว่าจะมีผู้นำเรื่องท่อส่งก๊าซธรรมชาติมาฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองสักกี่ครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ศาลวินิจฉัยไปแล้วหลายครั้งหลายหน แต่ศาลปกครองก็ยังให้เหตุผลและวินิจฉัยให้แก่ผู้นำเรื่องขึ้นสู่ศาลได้เข้าใจทุกครั้ง โดยหากนับตั้งแต่ครั้งแรก (ปี 2550) ก็เป็นเวลาแล้ว 10 ปี

ทั้งนี้ จุดประสงค์ของผู้เขียนในบทความนี้ ก็เพื่อต้องการให้ผู้อ่านที่ติดตามและสนใจประเด็นความขัดแย้งเรื่องท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท. ได้รับทราบข้อมูลอย่างรอบด้าน เพราะไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ เราอาจจะได้เห็นคำสั่งของศาลปกครองเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นครั้งที่เก้าก็เป็นได้

ฉกาจนิตย์ จุณณะภาต นักกฎหมายพลังงาน
ที่มา : http://thaipublica.org/2017/06/chakartnit-8/