31/7/61

ปตท.สผ.เผยผลประกอบการครึ่งแรกปี2561 มีกำไรสุทธิ 536 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ6

ปตท.สผ. เผยผลประกอบการครึ่งแรกปี 2561 มีกำไรสุทธิ 536 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงประมาณร้อยละ 6  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 ได้อนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล สำหรับผลการดำเนินงาน  งวด 6 เดือนแรกปี 2561 ในอัตราหุ้นละ 1.75 บาท



นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า ผลประกอบการของ ปตท.สผ. ในครึ่งแรกของปี 2561 มีกำไรจากการดำเนินงานปกติ (recurring net income) อยู่ที่ 640 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 20,381 ล้านบาท)สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 69 จาก 378 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 13,154 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม ปตท.สผ. มีขาดทุนจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติ (non-recurring items) รวม 104 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 3,410 ล้านบาท) โดยหลักเป็นการขาดทุนและค่าใช้จ่ายทางภาษีจากการอ่อนตัวของค่าเงินบาทระหว่างงวด และขาดทุนจากการป้องกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่กระทบต่อกระแสเงินสดของ ปตท.สผ. ส่งผลให้ครึ่งแรกของปี 2561 มีกำไรสุทธิ (net income) 536 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 16,971 ล้านบาท) ลดลงประมาณร้อยละ 6 จาก 569 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 19,820 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560
ทั้งนี้ ปตท.สผ. มีรายได้รวมในครึ่งปีแรก จำนวน 2,562 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 81,343  ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 จาก จำนวน  2,121 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 73,693 ล้านบาท) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยที่ปรับตัวสูงเป็น 45.51 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จาก 38.04 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และปริมาณขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 297,999 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จาก 292,709 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ในส่วนของต้นทุนต่อหน่วย (unit cost) สำหรับครึ่งปีแรกปรับตัวขึ้นจาก 28.29 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ มาอยู่ที่ 30.37 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 7% เป็นผลของค่าภาคหลวงที่สูงขึ้นตามรายได้และการปรับตัวของค่าเสื่อมจากการรับรู้สินทรัพย์ที่พร้อมใช้งานของโครงการคอนแทร็ค 4 และโครงการเอส 1 ซึ่ง ปตท.สผ. เชื่อว่าจะสามารถรักษาต้นทุนต่อหน่วยสำหรับปี 2561 ได้ในระดับ 30-31 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ
จากผลประกอบการดังกล่าว ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 ได้อนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล สำหรับผลการดำเนินงานของ ปตท.สผ. งวด 6 เดือนแรกปี 2561 ในอัตราหุ้นละ 1.75 บาท สอดคล้องกับนโยบายการให้ผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอแก่ผู้ถือหุ้น โดย ปตท.สผ. กำหนดวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล (record date) ในวันที่ 9 สิงหาคม 2561และจ่ายเงินปันผลในวันที่ 24 สิงหาคม 2561
สำหรับความคืบหน้าทางธุรกิจ  ปตท.สผ. ยังเน้นดำเนินธุรกิจตามแผนกลยุทธ์ 3R (Reset-Refocus-Renew) โดยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ได้มีความคืบหน้าจากการดำเนินการตามกลยุทธ์ Refocus โดยการเข้าซื้อสัดส่วนในโครงการบงกชจากบริษัทในเครือของกลุ่มเชลล์แล้วเสร็จ ส่งผลให้ ปตท.สผ. มีสัดส่วนการถือสัดส่วนในโครงการบงกชเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 66.6667 และปริมาณการขายเพิ่มขึ้นประมาณ 35,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน
ส่วนโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ได้รับอนุมัติแผนพัฒนาจากรัฐบาลแอลจีเรียแล้ว ขณะที่โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน มีความคืบหน้าอย่างมากทั้งในเรื่องการเตรียมการก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว และการสรุปสัญญาซื้อขายระยะยาวกับผู้ซื้อ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision หรือ FID) โดยมีเป้าหมายภายในครึ่งแรกของปีหน้า

ที่มา : http://www.energynewscenter.com/index.php/news/detail/1423

PTTOR หนุนนโยบายรัฐผลิตดีเซลบี20ขายรถบรรทุกขนส่งขนาดใหญ่ 2.7แสนลิตรต่อเดือน

PTTOR  พร้อมสนับสนุนนโยบายภาครัฐด้านพลังงานทดแทน ด้วยการผลิตน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 และจำหน่ายให้บริษัทรถบรรทุกขนส่งขนาดใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการ 270,000 ลิตรต่อเดือน ช่วยเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซล 360 ตันต่อปี ในขณะที่กระทรวงพลังงาน ตั้งเป้าหมายการจำหน่ายสูงถึง15ล้านลิตรต่อวัน



เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2561 นาย ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ณ บริษัท เอส ซี แคริเออร์ จำกัด อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยมี นายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (PTTOR) นายณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี ผู้บริหารบริษัท เอส ซี แคริเออร์ จำกัด เข้า ร่วมพิธี

นางสาวจิราพร  ขาวสวัสดิ์ รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (PTTOR) กล่าวว่า  PTTOR  พร้อมสนับสนุนโครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 สำหรับรถบรรทุกขนส่งขนาดใหญ่ เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนและช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน โดย PTTOR ให้ความสำคัญกับกระบวนการควบคุมคุณภาพของกระบวนการผลิต จัดเก็บ และจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ให้ได้มาตรฐานตลอดทั้งกระบวนการ โดยผลิตน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 จากคลังน้ำมันลำลูกกา จังหวัดปทุมธานีเพียงแห่งเดียว เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ และได้เริ่มจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 แล้วตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา รวมจำนวนการผลิตและจำหน่ายน้ำมันทั้งสิ้นประมาณ 270,000 ลิตรต่อเดือน ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซล ประมาณ 30 ตันต่อเดือน หรือ 360 ตันต่อปี และมีแผนจะขยายผลโครงการด้วยการเชิญชวนผู้ประกอบการรถขนส่งรายอื่นเข้าร่วมโครงการ เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ไบโอดีเซลให้มากขึ้นต่อไป
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท . จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เป้าหมายการผลิตและจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี20  จำนวน 270,000 ลิตรต่อเดือน เป็นเป้า เฉพาะเดือน ก.ค. 2561 เพื่อจำหน่ายให้ลูกค้า3 ราย ซึ่งเป็นขั้นแรกของการทดลองตลาด เพื่อดูความต้องการใช้ที่แท้จริง โดย ปตท. ยังอยู่ระหว่างเตรียมเจรจากับลูกค้าอีก 2 ราย ซึ่งหากความต้องการใช้เพิ่มขึ้น ก็จะผลิตและจำหน่ายเพิ่มในเดือนต่อไป
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า สำหรับโครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ที่กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่ประสบปัญหาน้ำมันปาล์มดิบล้นตลาดและมีราคาตกต่ำ นั้น มีเป้าหมายในการจำหน่ายที่ 15 ล้านลิตรต่อวัน หรือคิดเป็น 50%ของจำนวนรถบรรทุกทั้งหมด8.8 แสนคัน และคาดว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบได้มากขึ้น จากเดิม 1.3 ล้านตันต่อปี เป็น 2 ล้านตันต่อปี
โดยกำหนดให้ราคาขายปลีกน้ำมัน บี 20 ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วปกติ 3 บาทต่อลิตร เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิง  ทั้งนี้จากการศึกษาทดลองใช้น้ำมัน บี 20 ในรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่บางยี่ห้อบางรุ่น พบว่าไม่มีผลกระทบต่อเครื่องยนต์ อีกทั้งยังทำให้ระบบการเผาไหม้ของเครื่องยนต์สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ที่มา : http://www.energynewscenter.com/index.php/news/detail/1405

Café Amazon for Chance...สร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็น Inclusive Society เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

จากโพสต์ที่แล้ว ผมได้เล่าเรื่องที่ Cafe Amazon ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวงสนับสนุนเกษตรกรปลูกกาแฟ เพื่อพัฒนาชุมชนและองค์กรให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ด้วยโมเดล Inclusive business และ Social Enterprise (SE)



อีกสิ่งหนึ่งที่ ปตท.ไม่เคยลืม คือการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงคนทุกกลุ่ม เมื่อปีที่แล้ว เราได้นำ concept ‘Friendly Design’ มาใช้ที่ปั๊ม ปตท. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่เข้ามาใช้บริการที่ปั๊ม ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย และได้เริ่มจ้างงานผู้พิการแทนการบริจาคเข้ากองทุนตามกฎหมาย
เมื่อวานนี้ (17 ก.ค.2561) เป็นอีกก้าวสำคัญของ ปตท. และ Café Amazon ที่ได้เปิดร้าน “Café Amazon for Chance” ที่สำนักงานอธิการบดี ม.มหิดล (ศาลายา) รับผู้พิการทางการได้ยินที่จบการศึกษาจากวิทยาลัยราชสุดา ม. มหิดล 4 คนมาเป็นบาริสต้า ดำเนินการในรูปแบบ Social Enterprise (SE) ภายใต้การดูแลของบริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด กลุ่ม ปตท. โดยกำไรที่ได้จะนำไปเป็นกองทุนพัฒนาอบรมและฝึกอาชีพให้แก่ผู้พิการต่อไป
น้องๆ บาริสต้าทุกคนเก่งมากครับ มีความเป็นมืออาชีพ รับออเดอร์เครื่องดื่ม ทำงานกันคล่องแคล่ว ทุกคนผ่านการเทรนเพื่อที่จะเป็น barista ตามมาตรฐานของ Café Amazon มีนวัตกรรมเข้ามาช่วยน้องๆ คือ เครื่องบดกาแฟแบบ Digital ทำให้ตวงกาแฟได้สะดวก เตรียมเครื่องดื่มได้รวดเร็ว และจอสั่งเครื่องดื่มแบบ Duo Screen ซึ่งลูกค้าสามารถตรวจสอบรายการที่สั่งได้ทันที นอกจากนี้ ยังมี chart ที่สอนเราสั่งเครื่องดื่มด้วยภาษามือกับน้องๆ ด้วยนะครับ ผมลองสั่งอเมริกาโน่เย็น ได้ตรงตามที่ต้องการ และอร่อยถูกใจ
ตอนนี้ เรามีร้านคาเฟ่ อเมซอนที่ดำเนินการโดยผู้พิการทางการได้ยินที่ ม.มหิดลอยู่ 2 สาขา คือ หลังสำนักงานอธิการบดี และที่คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ภายในสิ้นปี มีแผนจะเปิดเพิ่มอีก 3 สาขา คือ สาขาบ้านเจ้าพระยา สาขา รพ.แหลมฉบัง และสาขากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
Café Amazon for Chance จึงเป็นทั้งโอกาสสำหรับน้องๆ ผู้พิการทางการได้ยินที่จะมีอาชีพ รายได้ที่มั่นคง และที่มากกว่านั้นคือ ผู้ที่ไปอุดหนุนกาแฟจะได้มีประสบการณ์เรียนรู้การใช้ภาษามือสื่อสาร เข้าใจความลำบากของผู้พิการ และหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้เรายอมลำบากกันขึ้นบ้าง เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาคของทุกภาคส่วนในสังคม สร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็น Inclusive Society เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
หากใครมีโอกาสแวะไปแถวศาลายา อย่าลืมไปอุดหนุน เป็นกำลังใจให้น้องๆ บาริสต้าที่มหาวิทยาลัยมหิดลนะครับ