22/1/61

PTT Group SDGs - Green Week พัฒนาความยั่งยืน

ปตท.พัฒนาความยั่งยืน กลุ่ม ปตท. จัดงาน “PTT Group SDGs - Green Week” เพื่อความยั่งยืน นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานเปิดงาน “PTT Group SDGs - Green Week”


ภายในงานประกอบด้วยสัมมนาเชิงวิชาการและนิทรรศการความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (SSHE) ของ ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ที่เป็นเลิศ เพื่อผลักดันให้สำเร็จตาม “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ที่ประชาคมโลกใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ณ อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่ วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ

โดยได้รับเกียรติจาก นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ  นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ที่ 3 จากซ้าย ) รศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ที่ 4 จากขวา) และนางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และผู้บริหารกลุ่ม ปตท. เข้าร่วมงานด้วย

ที่มา : https://www.facebook.com/Banmuangonline/

21/1/61

ปตท. กางแผน 5 ปีเดินหน้าธุรกิจน้ำมัน ปั้นโมเดล “Living Community”

ธุรกิจน้ำมันยังไปต่อ! เปิดแผนลงทุนปตท. 5แสนล้าน ปั้นปั๊มใหม่…ลีฟวิ่งคอมมูนิตี้



เปิดแผน 5 ปี เครือปตท.ลงทุน 3.4 แสนล้านบาท เน้นกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจน้ำมันยังไปต่อ ทุ่มปีละหมื่นล้านขยายปั๊ม ต่อยอด life station สู่ Living Community ปลายปีนำ ปตท.น้ำมันและค้าปลีกเข้าตลาดหุ้น อยู่ระหว่างถ่ายโอนทรัพย์สิน 1.2 แสนล้าน ธุรกิจโรงกลั่นเตรียมเพิ่มกำลังผลิต

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เปิดเผยว่า แผนการลงทุน 5 ปีต่อจากนี้ของ ปตท. งบฯลงทุนจะถูกแบ่งเป็น
1) สำหรับการลงทุนที่มีความชัดเจน (committed capex) รวม 340,000 ล้านบาท
2) โครงการที่มีความเป็นไปได้ที่จะลงทุน (provisional capex) 245,000 ล้านบาท ในส่วนของงบฯลงทุนที่มีความชัดเจนจะมีการลงทุนค่อนข้างสูง เพราะได้รวมการลงทุนในบริษัทใหม่ที่เตรียมนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คือ บริษัท PTTOR ที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างทุน ซึ่ง ปตท.จะต้องเพิ่มทุนให้ PTTOR เพื่อนำเงินมาซื้อทรัพย์สินต่อจาก ปตท. และแยกกิจการให้ชัดเจน รวม 1.2 แสนล้านบาท

ปั้นโมเดล “Living Community”

ขณะที่นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อีก 2 ปีข้างหน้า ปตท.เตรียมเปิดตัวสถานีบริการน้ำมันคอนเซ็ปต์ “living community” ที่ออกแบบให้สถานีบริการน้ำมันเป็นศูนย์รวมชุมชน จากเดิมที่ให้สถานีบริการเพียงจุดซื้อ-ขาย ภายใต้คอนเซ็ปต์นี้
1) เพื่อเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย จากเดิมที่เน้นให้บริการผู้เดินทาง มาเป็นทั้งผู้เดินทางและชุมชนรอบพื้นที่สถานีบริการ
2) เป็นแหล่งรวมสินค้าและบริการต่าง ๆ ทั้งที่เป็นของ ปตท .และพันธมิตรทางธุรกิจ
3) เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ (cocreator) ออกแบบสินค้าหรือการบริการร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ

นอกจากนี้ ปตท.ยังผสมผสานแนวคิดที่เรียกว่า “local heroes” ด้วยการนำสินค้าที่ได้รับความนิยมในกรุงเทพฯ ไปให้บริการกับลูกค้าในต่างจังหวัด ผ่านเครือข่ายร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอนทั่วประเทศ

ในส่วนของธุรกิจการกลั่นน้ำมัน รวมถึงธุรกิจปิโตรเคมีในเครือ ปตท.ก็เตรียมลงทุนมหาศาลในช่วง 5 ปี มากกว่า 1 แสนล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต และอัพเกรดให้โรงกลั่นผลิตน้ำมันที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ภายใต้สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ 50-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

19/1/61

รมว.พลังงาน ยืนยันรัฐไม่มีนโยบายลดบทบาท ปตท.-กฟผ.

ก.พลังงาน ยืนยันรัฐบาลไม่ได้มีนโยบายลดบทบาท ปตท. และ กฟผ. มั่นใจให้ทั้ง 2 หน่วยงานจับมือสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศต่อเนื่อง


นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ได้จัดแถลงข่าว ชี้แจงกรณีข่าวการปรับลดบทบาทของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ซึ่งกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่า ไม่ได้มีนโยบายที่จะลดบทบาทรัฐวิสาหกิจภายในกระทรวงพลังงานทั้ง 2 แห่งดังกล่าว โดยการกำหนดนโยบายหลักที่กระทรวงพลังงาน พร้อมจะขับเคลื่อน กฟผ. และปตท. มีรายละเอียดที่สำคัญ ๆ ดังนี้

1. หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ปตท. กฟผ. มีบทบาทสำคัญยิ่ง ต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

2. รัฐบาลมีนโยบายมอบหมายให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 หน่วยงานยังต้องมีบทบาทและหน้าที่ร่วมกันรักษาและเสริมสร้างความ มั่นคงด้านพลังงานของประเทศอย่างต่อเนื่อง

3. โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่สำคัญต่อความมั่นคง ซึ่งได้แก่ ท่อส่งก๊าซ สายส่งไฟฟ้า รวมทั้งสถานี LNG และโรงไฟฟ้า หลักที่จำเป็นในการสร้างเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าทั้งประเทศ จะยังคงอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 หน่วยงาน

4. บทบาทการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลักของ กฟผ. และการจัดหาก๊าซธรรมชาติที่จำเป็นต่อความมั่นคงโดย ปตท. เป็น หน้าที่สำคัญที่ทั้ง กฟผ. และ ปตท. ต้องร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอย่างต่อเนื่อง

5. ในส่วนการผลิตไฟฟ้า และการจัดหาก๊าซธรรมชาติที่นอกเหนือจากที่จำเป็นสำหรับความมั่นคงแล้ว เปิดให้ภาคเอกชน มีส่วนร่วมในระบบที่มีการแข่งขัน โดยให้ทั้ง 2 หน่วยงาน ปตท. และ กฟผ. สามารถร่วมแข่งขันด้วยได้ ในพื้นฐานที่เท่า เทียมกัน โดยจัดให้มีการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานอย่างเป็นธรรม

6. สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าหลักของ กฟผ. และการจัดหาก๊าซธรรมชาติที่จำเป็นต่อความมั่นคงโดย ปตท. ที่เหมาะสมให้ เป็นไปตามผลของการศึกษาที่จะมีการดำเนินการต่อไป

7. ส่วนย่อยโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เช่น สถานี LNG ที่จะเป็นการลงทุนของ ปตท. กฟผ. หรือโดยภาคเอกชน จะต้องเป็น การพิจารณาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และต้องทำการศึกษาอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อ ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

8. ส่วนการบริหารจัดการภายในของ กฟผ. และ ปตท. เพื่อรองรับบทบาทหน้าที่ด้านความมั่นคงของระบบพลังงานของ ประเทศ จะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไร ขอให้ท่านผู้บริหารสูงสุดของทั้ง 2 หน่วยงาน ได้ชี้แจงเพิ่มเติม ทั้งนี้หาก จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยให้ความสำคัญต่ออนาคตในหน้าที่การงานของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน

ขอบคุณแหล่งข่าวที่มา : NNT สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
http://thainews.prd.go.th/website_th/news/news_detail/TNSOC6101190010028