วันที่ 25 ก.ย.2560 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดย นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน ได้ลงนามร่วมกับ นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในโครงการปตท. – ธ.ก.ส. รวมพลัง ร่วมใจช่วยเกษตรกร เพื่อสร้างพันธมิตรทางธุรกิจและช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าของ ธ.ก.ส. ให้สามารถนำสินค้ามาวางจำหน่ายภายในปั๊มปตท.ได้ฟรี
นายอรรถพล กล่าวว่า ปตท. พร้อมสนับสนุนการจัดพื้นที่ในการจำหน่ายสินค้าและผลผลิตทางการเกษตรของลูกค้า ธ.ก.ส. ในปั๊มของ ปตท. โดยจะคัดเลือกปั๊มและกำหนดระยะเวลาจัดจำหน่ายอย่างเหมาะสม ซึ่ง ธ.ก.ส. เป็นผู้คัดเลือกสินค้าและผลผลิตทางการเกษตรของ ธ.ก.ส. มาวางจำหน่าย อีกทั้งจะมีการเปิดสาขาและสำนักงานตัวแทนของ ธ.ก.ส. พร้อมการวางเครื่องให้บริการด้านการเงินการธนาคารอัตโนมัติ (Self Service) ในปั๊ม ปตท.ด้วย
โดยปัจจุบัน ปตท.มีปั๊มน้ำมันอยู่ทั้งหมดประมาณ 1,500 ปั๊ม แต่จะนำร่องโครงการปตท. – ธ.ก.ส. รวมพลังฯประมาณ 300-400 ปั๊มก่อน ซึ่งเป็นปั๊มที่เคยร่วมโครงการรวมพลังซื้อข้าวจากชาวนามาแล้ว และคาดว่าจะเริ่มโครงการ ได้ภายในปี 2560 นี้
นอกจากนี้ ยังร่วมมือจัดทำโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน เช่น การให้ความรู้แก่เกษตรกรในการใช้น้ำมันหล่อลื่นสำหรับเครื่องจักรกลทางการเกษตร โดย ปตท. จะให้การสนับสนุนวิทยากรในการอบรมทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ตลอดจนให้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการอีกด้วย
ด้าน นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปั๊ม ปตท.มีจำนวนมากครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ หากเปิดให้เกษตรกรมีช่องทางในการจำหน่ายผลิตผลจะสามารถระบายผลผลิตทางการเกษตรตามฤดูกาล ผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีคุณภาพได้มาตรฐานจากเกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆจำหน่ายโดยตรงจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. จะพัฒนาช่องทางในการชำระค่าสินค้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ซื้อและผู้ขาย ผ่านแอพพลิเคชั่น ธ.ก.ส. A – Mobile และระบบ QR Code ซึ่งผู้ขายมี QR Code ของตัวเอง ผู้ซื้อเพียงแต่มีเงินฝากในบัญชี เมื่อจ่ายชำระค่าสินค้าเพียงใช้โทรศัพท์มือถือ (Smart Phone ) สแกน QR Code ของผู้ขายเท่านั้น ไม่ต้องพกพาเงินสดตอบรับสังคมยุคใหม่ (Cashless Society) โดยครั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้นำตัวอย่างสินค้า SME เกษตร ได้แก่ ผัก ผลไม้ organic กระยาสารทข้าวไรซ์เบอร์รี่ มะพร้าวน้ำหอม กล้วยอินทรีย์ ซึ่งมีการนำ QR Code ที่ ธ.ก.ส. สนับสนุนมาใช้เพิ่มช่องทางในการจ่ายชำระค่าสินค้า และความร่วมมือนี้จะส่งผลให้เกษตรกรและชุมชนในภาคชนบทมีช่องทางการตลาด สร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานรากและพัฒนาวงการเกษตรไทย
ที่มา : http://energynewscenter.com