30/5/61

“หยุดเติมน้ำมัน ปตท.” อารมณ์ เหตุผล หรือเจตนาแอบแฝง ?

ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นถึง 20% ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน ดีเซล และ LPG สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลกด้วยเช่นกัน ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ มีค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น



ผู้ที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้คือประเทศผู้ส่งออกพลังงาน ซึ่งก็เคยประสบปัญหารายได้หายไปเมื่อราคาพลังงานดิ่งลงตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว เป็นวัฏจักรที่มีการขึ้นลงเช่นเดียวกับอุสาหกรรมอื่นๆที่มีการลงทุนขนาดใหญ่และมี lead time นาน

คนทั่วไปอาจจะไม่เข้าใจธุรกิจพลังงานและกลไกตลาดโลก จึงเริ่มมองหาจำเลยที่จะระบายความโกรธแค้นที่เขาต้องเดือดร้อน ใกล้ตัวที่สุดคือผู้ค้าขายน้ำมัน โดยเฉพาะ ปตท. ซึ่งเป็นผู้ค้าสำคัญในประเทศไทย จนถึงขั้นมีขบวนการรณรงค์ให้หยุดเติมน้ำมัน ปตท. และบิดเบือนต่ออีกว่า ปตท. ก็ไม่เดือดร้อนเพราะขายน้ำมันต่างประเทศเป็นหลัก

ในส่วนที่ต้องดำเนินการทางกฎหมายกับผู้จงใจบิดเบือนข้อมูล หมิ่นประมาท และสร้างความเสียหายกับองค์กร ขอแยกไว้ก่อนนะครับ เรามาวิเคราะห์สาเหตุกันดีกว่าว่าเพราะอะไร ถึงเป็น ปตท. ผมรวบรวมได้ 8 ข้อ ถ้าสนใจและมีเวลา อ่านคำตอบด้านล่างนะครับ แล้วจะเห็นว่า ข้อกล่าวหาต่างๆนั้นไม่ตรงกับความจริง ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณเพื่อนๆหลายคนที่ช่วยออกมาอธิบาย และเตือนสติการใช้อารมณ์เกาะตามกระแสที่จะสร้างความเสียหายกับประเทศ

ข้อเท็จจริงต่างๆเหล่านี้ ได้มีการชี้แจงกับสังคมมาโดยตลอด แต่ก็ยังมีขบวนการที่ตั้งใจโจมตีปตท.มาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ต้องคิดต่อว่า
- วัตถุประสงค์ที่แท้จริงคืออะไร ?
- ใครคือผู้อยู่เบื้องหลัง ?
- เขาไม่เข้าใจพื้นฐานของอุตสาหกรรมพลังงานจริงๆหรือ ?
- ใครได้ประโยชน์อะไรจากการที่ทำให้บริษัทพลังงานของชาติเสียหายและอ่อนแอลง !
- เราจะลงโทษพวกที่ชอบสร้างกระแสในโลกโซเชียลมีเดีย จากความเท็จ หรือพูดจริงครึ่งเดียวยังไงดี ?

เพราะมีคนไทยจำนวนหนึ่ง ที่อ่าน Hate Speech ของขบวนการนี้แล้วคล้อยตาม ตกเป็นเครื่องมือในการบั่นทอนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และทำลายองค์กรไทยด้วยกันเอง

ผมเขียนเรื่องนี้ เพื่อจุดประกายให้เพื่อนๆตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรดี
1. หยุดเติม ปตท. ตามกระแส
2. ตั้งสติ ใช้ปัญญา พิจารณาเหตุผล และแชร์ข้อเท็จจริงในเครือข่าย ตามที่เห็นว่าเหมาะสม
3. ปกป้องสังคม ด้วยการประจานและต่อต้านผู้ที่มีเจตนาแอบแฝง

สิทธิในการเลือกเป็นของทุกคนครับ ขอให้เลือกโดยใช้ปัญญาวิเคราะห์ข้อเท็จจริงด้วยเหตุและผล เพื่อประโยชน์ส่วนรวมนะครับ

สุดท้ายผมขอยืนยันว่า ผมและชาว ปตท.ทุกคน ตั้งใจทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของคนไทยอย่างยั่งยืน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่แคร์คนไทย และจะปลดพนักงาน ตามที่มีเพจลงข้อความที่เป็นเท็จ

เทวินทร์ วงศ์วานิช
26 พ.ค. 2561

ข้อกล่าวหา 8 ประเด็น

1. ปตท. ขายน้ำมันแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ?

ตอบ: มีทั้งแพงกว่าและถูกกว่า
- เมื่อเปรียบเทียบราคากับเพื่อนบ้าน มาเลเซียต่ำที่สุด สิงคโปร์สูงที่สุด ในขณะที่ประเทศอื่นๆใกล้เคียงกับเรา
- ปัจจัยของราคาขายปลีกคือ ต้นทุนเนื้อน้ำมันและค่าการตลาดของผู้ค้าที่จะไม่ต่างกัน ที่แตกต่างมากคือภาษีที่แต่รัฐบาลแต่ละประเทศกำหนด
- มาเลเซียมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซมาก จึงแทบไม่เก็บภาษีผู้ใช้ในประเทศ
- สิงคโปร์เก็บเยอะ เพราะต้องการจำกัดการใช้รถยนต์
- ไทยและประเทศอื่นๆเป็นผู้นำเข้าน้ำมัน จึงเก็บภาษีสรรพสามิตมาเป็นงบรัฐ สำหรับสร้าง/ซ่อมถนน และพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้คนส่วนใหญ่
- สำหรับราคาในประเทศไทย ปั๊ม ปตท. ไม่เคยสูงกว่าปั๊มต่างชาติ และจะต่ำกว่าเป็นบางวัน

2. ปตท. ส่งออกน้ำมันถูกกว่าที่ขายในประเทศ ?

ตอบ: ราคาส่งออกใกล้เคียงกับราคาหน้าโรงกลั่นที่ขายในประเทศ
- ราคาที่ ปตท. ส่งออกเป็นราคาตลาดในภูมิภาค ซึ่งจะสะท้อนราคาเนื้อน้ำมันเป็นหลัก ยังไม่รวมภาษีสรรพามิต
- เพื่อนบ้านที่ซื้อไป ก็ขายที่ปั๊มในราคาที่สูงขึ้น เพราะต้องบวกภาษีในประเทศเขา
- สิงคโปร์ ซึ่งนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่น ก็ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปในราคาที่ต่ำกว่าที่ขายในประเทศเช่นกัน

3. ปตท. แอบขึ้นราคาน้ำมันต่อเนื่อง โดยไม่บอกประชาชน ?

ตอบ: ไม่จริง
- การขึ้นราคาขายปลีกในประเทศเป็นไปตามราคาตลาดโลก
- ไทยมีโรงกลั่นเอง แต่ต้องนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่น
- ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา น้ำมันดิบโลกมีราคาสูงขึ้น 20 %
- ปตท.ปรับราคาขายปลีกเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาค่าการตลาดประมาณ 1.60-1.80 บาทต่อลิตร
- ตั้งแต่ 6 เม.ย. ปตท. ปรับขึ้นราคา 6 ครั้ง ราคาต่ำกว่าปั๊มต่างประเทศรวม 9 วัน
- ในอดีต ปตท.เป็นหนึ่งในผู้ค้าไม่กี่รายที่ประกาศการปรับราคาล่วงหน้าเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค
- ตั้งแต่ 26 เม.ย. กระทรวงพลังงานขอความร่วมมือผู้ค้าทุกรายไม่ให้ประกาศล่วงหน้าเพื่อสร้างการแข่งขันด้านราคา ปตท. จึงปฏิบัติตาม โดยไม่มีเจตนาปิดบังแต่อย่างใด
- ปัจจุบัน กระทรวงพลังงานได้ผ่อนผันเรื่องนี้ ปตท.จึงกลับมาประกาศล่วงหน้าสำหรับการปรับราคาลงในวันที่ 26 พ.ค. นี้

4. ปตท. กำไรเยอะ จากการผูกขาดขายน้ำมันแพง ?

ตอบ: ไม่จริง
- ธุรกิจค้าขายน้ำมันเป็นตลาดเสรี มีผู้ค้ามากมายกว่า 30 ราย แต่ละรายมีสิทธิตั้งราคาเอง
- ค่าการตลาด 1.60-1.80 บาท/ลิตร แบ่งให้ Dealers เจ้าของปั๊มแล้ว ยังไม่คุ้มค่าการลงทุน ทุกปั๊มจึงต้องเปิดร้านสะดวกซื้อและร้านค้าอื่นเพิ่มขึ้นเพื่อหารายได้เสริม
- กำไรทั้งหมดของปตท.มาจากธุรกิจน้ำมันเพียง 10 % ที่เหลือเป็นผลตอบแทนจากการลงทุนจำนวนมากในธุรกิจก๊าซ สำรวจและผลิต โรงกลั่นและปิโตรเคมี
- ณ สิ้นปี 2560 ปตท. มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น (Total Assets) 2.23 ล้านล้านบาท มีกำไร 135,000 ล้าน คิดเป็นผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) 6 % ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของการทำธุรกิจทั่วไป

5. ปตท. ผลิตก๊าซและน้ำมันในประเทศมากมาย ควรเอามาอุดหนุนราคา ?

ตอบ: ไม่ควร
- เพราะ ปตท.สผ. (บ.ลูกของ ปตท.) มีสัดส่วนการผลิตก๊าซและน้ำมัน 30% ของผู้ผลิตในประเทศ เทียบเท่าเพียง 10% ของการใช้พลังงานทั้งหมด
- รายได้จะไม่เพียงพอที่จะนำมาอุดหนุนราคาได้อย่างมีนัยสำคัญ
- นอกจากนั้นยังต้องสำรองรายได้สำหรับการขยายการลงทุนเพื่อความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต

6. คุณภาพน้ำมันและบริการของ ปตท. ต่ำกว่ามาตรฐาน ?

ตอบ: ไม่จริง
- ปตท. พัฒนาคุณภาพน้ำมันสูงกว่ามาตรฐานทั่วไป ทั้งเรื่องประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
- ปตท. เป็นผู้นำด้านการสรรหาสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการและอำนวยความสะดวก ปลอดภัยของลูกค้า

7. ปตท. มุ่งแต่ทำกำไร ไม่เคยช่วยเหลือสังคม ?

ตอบ: ไม่จริง
- ปั๊ม ปตท. เปิดพื้นที่ให้เกษตรกร ชาวนา ชาวสวนนำผลิตภัณฑ์มาวางขายตรงให้ลูกค้า โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
- ปั๊ม ปตท. จัดกิจกรรม เช่น ห้องน้ำ 20 บาท โครงการแยกขยะ เพื่อนำรายได้ไปช่วยสถานศึกษาในชุมชน
- ปตท. ตั้งบริษัท Social Enterprise เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนให้สร้างรายได้ร่วมกับธุรกิจของ ปตท.
- ปตท. ร่วมกิจกรรมดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ปลูกป่า หญ้าแฝก รางวัลลูกโลกสีเขียว โรงเรียนวิทยาศาสตร์กำเนิดวิทย์ สถาบันวิทยสิริเมธี ป่าในกรุง ฟื้นฟูคุ้งบางกะเจ้า จัดประกวดศิลปกรรม ปตท. ทุกปี สนับสนุนสมาคมกีฬา 5 ประเภท ทำโครงการ Pride of Thailand

8. นายทุน / นักการเมือง เป็นเจ้าของ ปตท. ?

ตอบ: ไม่จริง
- รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการคลังและกองทุนวายุภักษ์ ถือหุ้น ปตท. ประมาณ 63.5 %
- อีก 32 % ถือโดยสถาบันการเงิน/กองทุน
- ที่เหลือ 4.5 % คือนักลงทุนรายย่อย

24/5/61

ไม่เติม ปตท. เพราะขายแพงกว่า หรือ แค่ระบายอารมณ์ ช่วงปรับราคาน้ำมัน

ในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับขึ้น ทุกกระแส พร้อมใจกันใช้ภาพ ปตท. ในการสื่อความของการปรับราคาน้ำมัน



จากสถานการณ์การปรับขึ้นราคาน้ำมันในประเทศที่มีการปรับขึ้นต่อเนื่องในช่วงนี้ ทำให้ ปตท. ตกเป็นเป้าโจมตีของคนในโซเชียลบางกลุ่ม (อีกครั้ง) โดยมองว่า ปตท. มีส่วนสำคัญในการตั้งและปรับขึ้นราคาน้ำมันในประเทศ



โครงสร้างราคาน้ำมันกรุ๊ปรวมเป็น 4 ส่วนย่อย ได้แก่
1. ราคาหน้าโรงกลั่น ราคาที่อ้างอิงจากตลาดราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ใกล้ที่สุด (ต้องคิดค่าขนส่งตามระยะจากตลาดกลางนั้นมาที่ประเทศ หากอ้างอิงตลาดที่อยู่ไกล ย่อมเสียค่าขนส่งมาก) ผู้ค้าที่มีโรงกลั่นก็ใช้หลักการเดียวกัน
2. ภาษีต่างๆ รัฐเป็นผู้กำหนดและดูแล จะเห็นว่าประเทศไทยเสียภาษีน้ำมันค่อนข้างสูง เนื่องจากประเทศไทยจัดประเภทของน้ำมันเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ดังนั้นภาษีจึงเป็นนโยบายของรัฐ และ ปตท. ไม่มีสิทธิ์กำหนด (หรือแม้แต่ผู้ค้าอื่นๆ ก็ตาม)
3. กองทุนต่างๆ รัฐควบคุมการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ปตท. หรือแม้แต่ผู้ค้าทุกราย ก็ไม่ใช่ผู้กำหนดการจัดเก็บกองทุนน้ำมัน
4. ค่าการตลาด จะเป็นส่วนของรายได้ที่แบ่งกันระหว่างแบรนด์และเจ้าของปั๊ม โดยยังไม่ได้หักต้นทุนการดำเนินการของปั๊ม ซึ่งหากกำหนดราคาการตลาดสูง ราคาน้ำมันก็จะเพิ่มเช่นกัน หากกำหนดต่ำรายได้ก็จะลด ปั๊มต่างๆ เองก็จะอยู่ไม่ได้เช่น

ในแง่ของนโยบายการประกาศราคา อย่างที่ทราบก่อนหน้านี้รัฐมีการขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันไม่ให้มีการประกาศราคาน้ำมันล่วงหน้าที่อาจเข้าข่ายเป็นการชี้นำตลาด ซึ่ง ปตท. เองที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจก็ต้องปฏิบัติตามเพื่อสนองนโยบายของรัฐถือเป็น เรื่องปกติ เเละผู้ค้าน้ำมันรายอื่นๆก็ต้องปฏิบัติตามเช่นกัน การเหมารวมว่าเป็นความผิดของ ปตท. เจ้าเดียว จึงดูไม่มีเหตุผลเลย

ที่เหลือก็วนมาประเด็นเก่า ราคาน้ำมันแพงกว่าเพื่อนบ้าน ใช่ครับ แต่ด้วยเรื่องนโยบายต่างๆ รวมไปถึงการเก็บภาษี ที่ค่อนข้างสูง (ดูได้จากตาราง หรือ http://bit.ly/2Lp9wcP)

เพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียน้ำมันถูกกว่าเรา ใช่ครับ จริงแท้แน่นอน แต่ รัฐบาลอุดหนุนราคาครับ ไม่ใช่ว่า บริษัทใดบริษัทหนึ่งทำหน้าที่อุดหนุนราคา (http://bit.ly/2s6wX1N)

หรือแม้แต่ทำไมน้ำมันส่งออกถูกกว่าขายในประเทศ ก็ส่งออกไม่รวมภาษีไงครับ ไม่งั้นเราไปซื้อของแต่ละประเทศเราจะ refund tax กันทำไม ยกเว้นเราซื้อของแล้วใช้ในประเทศเค้า เราก็ต้องจ่ายภาษีตามนโยบายเค้าเช่นกัน

หรือแม้แต่เหลือเก็บทำไมไม่ใช้เอง เก็บไว้ใช้ ต้องสร้างที่เก็บ ที่มีการดูแลรักษา ต้องมีการประกันภัย ขนาดสำรองน้ำมันตามกฎหมาย ยังคิดมาทบกับราคาน้ำมันเลย หน่วยเป็นสตางค์ แถมยังมีสารพัดดอกเบี้ยที่เอามาลงทุนอีก ต้นทุนจมเงินจมนะครับ

ไม่พอใช้ทำไมเหลือเก็บ โรงกลั่นออกแบบมาให้ผลิตดีเซล เพื่อตรงกับความใช้งาน น้ำมันดิบไม่ได้กลั่นออกมาได้แต่ดีเซล มันได้เบนซินด้วย ที่เหลือวนไปอ่านข้อก่อนหน้า

เห็นไม๊ครับ ที่พิมพ์ไปยืดยาว หากคุณไม่เติม ปตท. แล้วน้ำมันจะถูกลงหรอ ก็ไม่ เพราะอย่างไรเสียคุณเติมแบรนด์อื่นไป สุดท้ายเราก็ไม่ต่างจากเดิมอยู่ แล้วคิดว่า การบอยคอต ทำให้ลดราคาลงมาได้ เพราะเหลือใช้หรอ ก็ไม่อีก เพราะสุดท้าย เหลือก็ส่งออกเช่นกัน ก็วนไปเรื่องเดิมที่ได้พิมพ์มา

ฝากไว้นะครับ การไม่เติม ปตท. รัฐที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ปตท. ยิ่งไม่ได้อะไรจากกระทำครั้งนี้สักนิด

ที่มา : น้องปอสาม https://www.facebook.com/nongposamm/photos/a.1548159858783765.1073741828.1547935488806202/2091620477771031/?type=3&theater

4/5/61

TDRI ชงแผนปฏิรูปแท็กซี่ “ราคาเริ่มต้น 40 บาท”

ปัญหาที่ต้องยอมรับในทุกวันนี้คือเรื่องของแท็กซี่ไม่รับผู้โดยสาร และทำให้เกิดปัญหาคือเส้นทางที่รถติดทำให้ไม่ค่อยมีรถแท็กซี่วิ่งเข้าไปรับผู้โดยสาร ล่าสุดทาง TDRI ได้เตรียมส่งแผนปฏิรูปแท็กซี่ให้ทางกรมการขนส่งทางบกพิจารณาเพื่อแก้ปัญหานี้



สุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการชำนาญการขนส่ง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ได้เปิดเผยผลการศึกษาแนวทางการปฏิรูปแท็กซี่ จะสามารถส่งเรื่องไปยังกรมการขนส่งทางบกพิจารณาภายในเดือนนี้ ซึ่งรายละเอียดมีดังนี้

โมเดลแก้ปัญหาใหม่

สำหรับแนวทางใหม่ทาง TDRI ได้เสนอโมเดลราคาค่าโดยสารแท็กซี่ โดยอิงรูปแบบมาจากต่างประเทศ ซึ่งคิดค่าโดยสารสองส่วนได้แก่ ค่าโดยสารตามระยะทาง และ เวลาในการเดินทาง
ทาง TDRI ได้ยกตัวอย่างเช่นการเดินทาง 5 กิโลเมตรคิดค่าระยะทาง 50 บาท แต่ถ้าช่วงนั้นรถติดมากก็อาจคิดเวลาเช่นใช้การเดินทางมากกว่าปกติ 35 นาที ก็จะบวกเพิ่มเติมไปอีก 35 บาท ซึ่งผู้โดยสารจะจ่ายค่าโดยสารทั้งหมด 85 บาท
สำหรับแนวทางใหม่ที่ทาง TDRI นำเสนอนั้นอาจไม่ต้องมีการแก้กฏหมาย เพียงแค่แก้กฏบังคับกระทรวงคมนาคมเพื่อบังคับใช้เท่านั้น ถ้าหากทางกรมการขนส่งทางบกเห็นชอบในเรื่องนี้ก็จะเสนอเข้าสู่กระทรวงคมนาคมต่อไปเพื่อบังคับใช้

ค่าโดยสารเริ่มต้น 40 บาทมาแน่

สำหรับแนวทางการปรับเปลี่ยน ที่ทาง TDRI เสนอคือจะขึ้นค่าโดยสารเป็น 40 บาทต่อ 2 กิโลเมตรแรก จากราคาเดิม 35 บาท ซึ่งคาดว่าน่าจะแก้ปัญหาได้ และต้องดูท่าทีของกรมการขนส่งทางบกอีกด้วย
ซึ่งโมเดลค่าโดยสารของแท็กซี่ในกรุงเทพมหานครถือว่าเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง หากราคาแพงไป ผู้โดยสารก็ไม่ขึ้น ทำให้คนขับแท็กซี่ต้องวิ่งรถเปล่าๆ เสียทั้งเวลา เชื้อเพลิง รถติด ฯลฯ แต่หากค่าโดยสารถูกเกินไปก็จะเกิดเรื่องที่ว่าคนขับแท็กซี่ไม่พอใจรายได้ที่ได้รับ จึงทำให้เกิดเรื่องของการไม่รับผู้โดยสาร เน้นรับชาวต่างชาติมากกว่า หรือปัญหาอื่นๆ
ได้แต่ลุ้นว่าโมเดลที่ออกมาใหม่นั้นทุกคนจะ Happy ในตรงส่วนนี้หรือไม่
ที่มา – โพสต์ทูเดย์